สำหรับแนวทางการพัฒนาทั้ง 4 ด้านที่ได้ทรงห่วงใยราษฎรในการทำการเกษตรในพื้นที่โครงการปากพนังฯ และมีพระราชดำรัสเป็นพิเศษที่กระทรวงเกษตรฯ พร้อมเข้าไปดำเนินการ ได้แก่ 1.การพัฒนาการผลิตข้าวให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งผลิตข้าวใหญ่ในภาคใต้ สร้างศูนย์ข้าวชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาไปสู่มาตรฐาน GAP มากที่สุด รวมถึงพืชอื่น ๆ ด้วย เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง ปลา และปศุสัตว์ เป็นต้น โดยให้มีเจ้าหน้าที่ในการตรวจแปลงนา เพื่อให้สามารถผลิตข้าวได้จำนวนมาก โดยให้สหกรณ์การเกษตรท่าวังผา จำกัด จังหวัดน่าน เป็นตัวอย่างที่ดีในการผลิตและจัดการเรื่องข้าว รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำนาดำมากกว่านาโยนที่ให้ผลผลิตดีกว่า และสนับสนุนในเรื่องเครื่องปักดำนา เพื่อลดการใช้แรงงานในการดำนาลง 2.การเพิ่มการผลิตพันธุ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการและมีคุณภาพ และส่งเสริมการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง 3.การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจมีการติดชื่อแหล่งผลิตที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกรด้วย ซึ่งร้านภูฟ้าสามารถเข้ามาช่วยส่งเสริมเรื่องการตลาดได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงนำนวัตกรรมใหม่ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้ามาต่อยอดให้แก่เกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น เช่น เครื่องบรรจุภัณฑ์ระบบสุญญากาศ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์ข้าวหรือผลิตผลให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น หรือ การต่อยอดใช้เครื่องฆ่ามอด ของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกร และ 4.การบริหารโรงสีชุมชน ให้เหมาะสมและเพียงพอ
“โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มดำเนินโครงการในปี 2537 มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน แบ่งแยกน้ำจืดและน้ำเค็ม ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทั้งนี้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน การส่งเสริมข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ผลและไม้ยืนต้นอื่น ๆ พืชไร่พืชผัก ไร่น่าสวนผสม ปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ งานวิจัยต่าง ๆ เป็นต้น" นายชวลิต กล่าว