ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่ยังมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงอาสาเป็นแกนกลางบูรณาการข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ จากภาคส่วนต่างๆ มาจัดทำเป็น “คู่มือแนวทางการบริหารจัดการเส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางในภาวะภัยพิบัติในกรุงเทพฯ และปริมณฑล" เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างบูรณาการ เตรียมความพร้อมรองรับการสัญจรที่ปลอดภัย อันจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินในภาวะภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการตั้งแต่เดือน ก.พ. - ก.ค. 57 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้เป็นแกนกลางผนึกกำลังเครือข่ายจัดทำโครงการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางในภาวะภัยพิบัติในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงผลกำไร ประชาชนและสื่อมวลชน มาร่วมกันแบ่งปัน เสนอแนะ ระดมสมอง ต่อยอดความคิด ผ่านการสัมมนา เสวนา ประชุมกลุ่มย่อย สัมภาษณ์เชิงลึก แล้วรวบรวมข้อสรุปมาจัดทำเป็นคู่มือแจกจ่ายให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการทำความเข้าใจร่วมกัน และใช้ประโยชน์ในการบูรณาการ เพื่อรับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสาระสำคัญของคู่มือที่ได้จากข้อคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ จะเป็นแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ แบ่งเป็นช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัยพิบัติ และหลังเกิดภัยพิบัติ ประกอบด้วย แนวทางระยะยาวหรือระดับนโยบาย กรุงเทพมหานครจะต้องเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลการเดินทางทุกรูปแบบในกรุงเทพมหานคร และควรมีการจัดตั้งศูนย์สั่งการและศูนย์ประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แ
นวทางระยะกลางหรือระดับวางแผน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันกำหนดเส้นทางหลักและเส้นทางรองที่สามารถใช้เดินทางและลำเลียง ความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยได้ในภาวะภัยพิบัติ แนวทางระยะสั้นหรือระดับปฏิบัติ จัดเตรียมบุคลากร ที่คอยอำนวยความสะดวกและดูแลระบบสื่อสารให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและขอความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างชัดเจนและ มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ยังได้จัดทำคู่มือฉบับประชาชน “เดินทางปลอดภัยในภาวะภัยพิบัติ" จำนวน 200,000 เล่ม โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่งของกรุงเทพมหานคร หรือที่สำนักงานเลขานุการ สำนักการจราจรและขนส่ง หรือดาวน์โหลดรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bma-disastermanagement.com หรือ www.facebook.com/เดินทางปลอดภัยในภาวะภัยพิบัติ
ทั้งนี้ จะมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ว่าด้วยการร่วมเป็นเครือข่ายบูรณาการการทำงานบริหารจัดการเส้นทางคมนาคมในภาวะภัยพิบัติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคีเครือข่ายต่อไป ในวันที่ 25 ก.ค. 57 เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนและประสานความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมสู่การปฏิบัติในการรับมือภัยพิบัติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ