สำหรับแผนการใช้น้ำของประเทศไทยที่กำลังจัดทำจะเน้นแก้ปัญหาพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 90% และจะเน้นเพื่อรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก รองลงมา คือ เพื่อการอุปโภคบริโภค, เพื่อการเกษตร อันดับสุดท้าย คือเพื่อการท่องเที่ยว จากเดิมที่ประเทศไทยใช้น้ำเพื่อการเกษตร 70% เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ 18% เพื่ออุปโภคบริโภค 4% และเพื่อการท่องเที่ยว 3%
นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการที่ดูแลเรื่องแผนแม่บทน้ำฉบับใหม่ ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำ" มีอนุกรรมการ 5 คณะ ประกอบด้วย 1.อนุกรรมการดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก ซึ่งจะมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานอนุกรรมการ 2.อนุกรรมการดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 3.อนุกรรมการดูแลระบบข้อมูล ซึ่งบทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่ปี 54 พบว่านอกจากปัญหาเรื่องฝนแล้วปัญหาเรื่องระบบข้อมูลมีส่วนสำคัญอย่างมาก 4.อนุกรรมการด้านโครงสร้างองค์กรด้านน้ำ ที่จะพิจารณาว่าควรจะมีการจัดตั้งกระทรวงน้ำหรือไม่ หรือควรจะมีบอร์ดน้ำหรือไม่ และ 5.อนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งแผนแม่บทเดิมการประชาสัมพันธ์มีความอ่อนแอมาก
"ภายใน 30 ก.ค.นี้ อนุกรรมการทั้ง 5 คณะ จะต้องรายงานกรอบการทำงานในส่วนที่รับผิดชอบดูแล รวมทั้งงบประมาณที่ต้องใช้ หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดใหญ่ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำอีก 8 คน จะเข้ามาช่วยดูและรวบรวมกรอบทำงานทั้งหมด รวมทั้งงบประมาณราวกลางเดือนก.ย.57 จะได้เป็นแผนบูรณาจนกลายเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำประกาศให้ประชาชนรับทราบวันที่ 15 ต.ค.57"
ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.มีแนวทางสร้างความเข้มแข็งให้ภาคอุตสาหกรรมมาตลอด แต่ในช่วงระยะหลัง ส.อ.ท.พยายามระดมสมองและมองปัญหาสำคัญที่อาจจะเกิดในอนาคตเช่นเดียวกับเรื่องน้ำคือ เรื่องก๊าซในอ่าวไทยที่อาจจะหมดไปในอีก 7-8 ปีข้างหน้า และอาจจะต้องมีการนำเข้า ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้ขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยลดลงหรือไม่
ทั้งนี้ มองว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การมีแหล่งเชื้อเพลิงประเภท Bio Base โดยจำเป็นต้องมีการเพิ่ม Yeild สินค้าเกษตรด้านพลังงาน เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน อาจจะต้องเร่งจัดทำโซนนิ่งระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ทั้ง 2 ประเภท
"ถ้าเราจะสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรม ก็ควรจะเริ่มทำตั้งแต่วันนี้"นายเจน กล่าว