นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ.กล่าวว่า ได้ประสาน 31 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู เลย อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี และสระแก้ว รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขา จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก หากไม่มั่นคงแข็งแรงและเป็นอันตรายให้อพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที
ทั้งนี้จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศพม่าตอนบน ประเทศลาว และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 5-7 ส.ค.นี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม