"มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5(นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา) ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 โดยสั่งห้ามบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่พิพาท และจัดเวรยามเฝ้าระวังพื้นที่บ่อขยะที่พิพาทตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเพลิงไหม้ พร้อมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือสำหรับดับเพลิงไว้ให้พร้อม ทั้งนี้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 รายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้ศาลทราบทุกวันที่ 5 ของเดือน จนกว่าคดีถึงที่สุด" คำสั่งศาลปกครองกลาง ระบุ
ศาลปกครองกลางได้ไต่สวนแล้วเห็นว่าคำฟ้องในคดีนี้มีมูล หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.57, 8 เม.ย.57 และ 12 พ.ค.57 แสดงให้เห็นว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษาไม่ได้ดำเนินมาตรการป้องกันการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่พิพาทตามที่ได้ให้ถ้อยคำและมีหนังสือชี้แจงต่อศาล เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอีกจนส่งผลกระทบต่อสาธารณชน ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ
"การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อป้องกันมิให้เกิดเพลิงไหม้บ้อขยะที่พิพาทขึ้นอีก จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสามเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาคดี" คำสั่งศาลปกครองกลาง ระบุ
คดีดังกล่าวเป็นกรณีพิพาทระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับนายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, เทศบาลตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4
และกรณีพิพาทระหว่างนายสุชาติ นาคนก ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และพวกรวม 162 ราย กับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3, ผุ้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4, กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5, กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7
ทั้งนี้ อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยให้สำนวนคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน(ผู้ฟ้องคดี) เป็นคดีหลัก