"การประชุมวันนี้เป็นการทบทวนสถานการณ์การระบาดของโลก ภายหลังที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้อีโบลาเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุมโรค" นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 ซึ่งมีสาระต่อเนื่องกัน ได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่อ 2.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 3.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย และ 4.ประกาศกระทรวงฯกำหนดเขตติดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ กินี เซียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากลอสของประเทศไนจีเรีย โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจนานุเบกษาแล้ว
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอีโบลาของไทยสูงยิ่งขึ้น ขณะนี้ได้เฝ้าระวัง และตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ที่ท่าอากาศยานและช่องทางเข้าออกทางน้ำ รวม 22 แห่ง โดยใช้วิธีการตรวจคัดกรอง โดยการซักประวัติ วัดอุณหภูมิ เป็นรายบุคคล ซึ่งเหมาะสมกว่าการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิเทอร์โมสแกน เนื่องจากมีผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดเพียงวันละประมาณ 10 รายเท่านั้น พร้อมทั้งแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่กำลังมีการระบาด หากไม่มีความจำเป็น จนกว่าการระบาดจะสงบ และเตรียมความพร้อมในระบบการดูแลผู้ป่วย การตรวจหาการติดเชื้อที่รวดเร็ว หากมีผู้ป่วยสงสัยติดเชื้ออีโบลา
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้รายงานสถานการณ์อีโบลา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2557ว่า พบผู้ป่วยทั้งหมด 1,848 ราย เสียชีวิต 1,013ราย สำหรับการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2557-12 สิงหาคม 2557 ได้ตรวจคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดทั้ง 4 ประเทศ รวม 483 ราย ทุกคนมีอาการปกติ
สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ไม่ติดต่อทางการหายใจ แต่จะติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือของเหลวจากร่างกายของผู้ป่วย สำหรับกรณีที่องค์การอนามัยโลกเห็นชอบให้นำยาซีแมปป์ ซึ่งยังอยู่ในขั้นทดลองในสัตว์มาใช้รักษาผู้ติดเชื้ออีโบลานั้แป็นการใช้ยาในกรณีพิเศษ เพื่อพยายามช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากขณะนี้การระบาดของเชื้ออีโบลายังเพิ่มขึ้น และมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 ราย มากที่สุดที่ประเทศไลบีเรีย ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาคาดว่า อาจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-6 เดือนที่จะควบคุมการระบาด มีข้อสังเกตว่าอัตราการป่วยตายของโรคนี้มีแนวโน้มลดลง เหลือประมาณร้อยละ 60 คาดว่าเป็นผลจากมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคมากขึ้น ส่งผลให้ระบบการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น