สธ.จัดประชุมสร้างความเข้าใจ“โรคติดเชื้ออีโบลา"ป้องกันตื่นตระหนก

ข่าวทั่วไป Tuesday August 19, 2014 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม“โครงการสื่อสารความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่...ไวรัสอีโบลา กระทรวงสาธารณสุข ปี 2557" แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ งานสุขศึกษา งานสื่อสารความเสี่ยง จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้แทนสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ จำนวน 230 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และเผยแพร่สู่ประชาชนให้เป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความตื่นตระหนก

การจัดประชุมเรื่องการสื่อสารความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้องแก่บุคลากรที่จะเป็นแกนหลักในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร ตั้งแต่เชื้อโรค การระบาด การติดต่อ การแพร่เชื้อ อาการ วิธีการป้องกันโรค ให้เป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความสับสนจากสื่อต่างๆ ที่มีจำนวนมาก ทั้งต่างประเทศและในประเทศ เพิ่มความเชื่อมั่นระบบความพร้อมของประเทศไทย และความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ไม่ให้แพร่ระบาดในไทย

นพ.วชิระ กล่าวว่า โรคอีโบลาเป็นโรคประจำถิ่นของทวีปอาฟริกา เชื้อไวรัสจะอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วยคือเลือด น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลือง ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำอสุจิ การติดต่อกันจะเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับสารคัดหลังดังกล่าวของผู้ป่วยที่มีอาการโดยตรง ไม่ติดต่อทางอากาศ เชื้อจะแพร่ขณะมีการป่วยแล้ว

สำหรับมาตรการที่สำคัญและหลายประเทศเริ่มดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อแพร่ระบาดข้ามประเทศ ก็คือการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางก่อนออกมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคและก่อนเข้าประเทศปลายทาง จากการประเมินสถานการณ์ของนักวิชาการ พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดการระบาดของโรค และจนถึงขณะนี้แม้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยก็ตาม แต่ไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดระบบเฝ้าระวังโรคทั้งประเทศ ซึ่งจะสามารถค้นหาผู้อาจติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 4 ประเทศ ทั้งทางอากาศและทางเรือ การจัดระบบการดูแลรักษา ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ระบบมีความพร้อมทันทีหากพบผู้ป่วยหรือผู้สงสัย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์ล่าสุด ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 - 13 สิงหาคม 2557 มีผู้ป่วยสะสมรวม 2,127 ราย เสียชีวิต 1,145 ราย โดยพบผู้ป่วยใน 4 ประเทศ ได้แก่ประเทศกินี ไลบีเรีย เชียร์ราลีโอน และเมืองลากอสประเทศไนจีเรีย ในวันที่ 12 – 13 สิงหาคม 2557 พบผู้ป่วยรายใหม่ 152 ราย เสียชีวิต 72 ราย โดยสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดอยู่ที่ประเทศไลบีเรีย และประเทศเซียร์ราลีโอน ซึ่งถือว่าเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่และเป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ