สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรงที่มีอัตราป่วยตายสูง คือร้อยละ 50-90 มีระยะฟักตัว 2-21 วัน อัตราการแพร่ระบาดสูงและเร็วติดต่อกันได้จากการสัมผัสเลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง ของผู้ป่วยโดยตรง หรือ สัมผัสศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้โดยไม่มีการป้องกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสอีโบลา แต่ควรเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่กรมการแพทย์ได้ทบทวนและปรับปรุงแนวทางการวินิจฉัย การดูแล รักษาและการควบคุมป้องกันการติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อให้โรงพยาบาลทุกระดับมีแนวทางในการปฏิบัติตนเกี่ยวกับการควบคุมป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลซึ่งต้องปฏิบัติเหมือนผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายสูง เช่น โรคซาร์ส อย่างเคร่งครัด รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความพร้อมในการดูแลรักษาตลอด 24 ชั่วโมง กรณีพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
ทั้งนี้ รายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค.57 พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศกินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย สะสมรวมทั้งสิ้น 2,473 ราย เสียชีวิต 1,145 ราย ได้รับการยืนยันทางห้องปฏิบัติการเป็นผู้ป่วย 1,460 ราย เสียชีวิต 805 ราย ในส่วนของประเทศไทยจากการคัดกรองที่สนามบินนานาชาติทั้ง 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.-16 ส.ค.57 มีผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดทั้งหมด 581 ราย เป็นผู้เดินทางที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังในช่วง 21 วัน จำนวน 115 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำการติดตามผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังทุกวัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา