สธ.เผยหญิงไทยที่อยู่ระหว่างสอบสวนโรคอาการไม่เข้าข่ายติดเชื้ออีโบลา

ข่าวทั่วไป Friday August 22, 2014 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าอาการของหญิงไทย 1 รายที่ต้องสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา หลังจากที่รับตัวเข้าดูแลรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรวานนี้ว่า ล่าสุดได้รับรายงานในเช้าวันนี้ อาการดี ไม่มีไข้ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่เดินทางเข้าประเทศไทยมาหลายครั้งไม่พบว่ามีไข้แต่อย่างใด ผื่นลมพิษที่ผิวหนังยุบลง ลักษณะผื่นไม่เหมือนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

ประกอบกับ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นให้ผลลบต่อการติดเชื้อไวรัสอีโบลา และผลการตรวจเลือดทั่วไปไม่พบว่ามีภาวะติดเชื้ออื่นๆ โดยระดับเกร็ดเลือดอยู่ที่ 190,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ค่าปกติอยู่ที่ 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร แต่หากเป็นโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะมีระดับต่ำกว่า 150,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จึงไม่เข้าข่ายติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่พบว่ามีความเครียดวิตกกังวลว่าครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากข่าว จึงได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเพื่อให้คลายความกังวล

อย่างไรก็ดี แพทย์วางแผนจะตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการซ้ำอีกครั้งใน 2-3 วันนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และจะติดตามอาการต่อจนครบ 21 วันหลักเกณฑ์รวมไปถึงการติดตามอาการบุคคลใกล้ชิด 13 รายทุกวัน ตามที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่บันทึกไว้ จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค 21 วันเช่นกัน แม้ว่ากรณีนี้จะไม่เข้าข่ายแม้กระทั่งผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลาก็ตาม

ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคผู้ต้องสอบสวนรายนี้ จะดำเนินการตามระบบที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบแนวทางไว้ โดยผ่านคณะทำงานตรวจยืนยันวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งมีศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน และคณะกรรมการจากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาข้อมูล ทั้งด้านการตรวจทางคลินิก ผลการสอบสวนทางระบาดวิทยา และผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะมีการประชุมในวันนี้ สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทั่วโลก มีการระบาดใน 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซีนราลีโอน และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย โดยที่เมืองลากอสดีขึ้น ไม่มีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตรายใหม่ กินีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นไม่มาก ที่น่าห่วงคือไลบีเรีย และเซียราลีโอน ขณะนี้องค์การอนามัยโลกรายงานข้อมูลล่าสุด มีผู้ป่วย 2,473 ราย เสียชีวิต 1,350 ราย

อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ทั่วโลกมีรายงานหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เดินทางติดเชื้อไวรัสอีโบลา เช่นอินเดีย เยอรมัน พม่า เวียดนาม รวม 60-70 เหตุการณ์ พบว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา และเหตุการณ์แพทย์และพยาบาล ชาวอเมริกันที่ติดเชื้อจากประเทศอาฟริกาตะวันตกและกลับมารักษาที่สหรัฐอเมริกา ขณะนี้มีข่าวดี ทั้ง 2 คนหายเป็นปกติ กลับบ้านไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ตามปกติ

ด้านนพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ดำเนินการ และเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขโรคอุบัติใหม่ ทั้งการเฝ้าระวังในสถานพยาบาลซึ่งมีความพร้อม การคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีการซักซ้อมความเข้าใจกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเป็นระยะ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีด่านควบคุมโรคระห่วงประเทศ ทั้งทางอากาศและน้ำ รวมทั้งจังหวัดตามตะเข็บชายแดน การดูแลรักษา มีห้องแยกป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ระบบการเก็บและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือการสื่อสารเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก รวมทั้งระบบบริหารจัดการ ซึ่งมีการประชุมวอร์รูมทุกวันที่กรมควบคุมโรคและวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข และได้สั่งการให้ทุกจังหวัดซักซ้อมความเข้าใจทุกโรงพยาบาล ให้ทบทวนและซ้อมแผนรับโรคนี้ ตามระบบการควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาลที่จะมีการซ้อมแผนต่างๆ เป็นระยะ

“โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาไม่ใช่โรคที่ติดต่อง่าย ไม่ติดต่อทางการหายใจ น้ำดื่ม หรืออาหาร จึงติดต่อกันได้ยาก การระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศอาฟริกาในครั้งนี้ จึงน่าจะมาจากพื้นฐานการสาธารณสุขที่อาจยังไม่ดีนัก ขณะที่ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ในส่วนของบุคลากรสาธารณสุข ที่มีการป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มงวดนั้น เป็นการดำเนินการตามมาตรฐาน เนื่องจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก รวมทั้งฝากไปยังสื่อมวลชนว่าการเสนอข่าว ขอให้คำนึงถึงสิทธิผู้ป่วยที่ต้องปกป้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการดำเนินชีวิตผู้ป่วยและครอบครัว" นพ.ธงชัย กล่าว

นอกจากนี้ ประเทศไทยถือว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำต่อการระบาดของโรคนี้ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.พื้นที่ระบาด ได้แก่ 3 ประเทศ คือกินี ไลบีเรีย เซียราลีโอน และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย 2.พื้นที่เสี่ยงสูง ได้แก่ พื้นที่ติดพื้นที่ระบาดเช่น ไอเวอรี่โคสต์ และพื้นที่ที่มีผู้ป่วยเดินทางเข้าไป เช่นสหรัฐอเมริกา สเปน เคนยา และ3. พื่นที่เสี่ยงต่ำ ได้แก่ประเทศอื่นๆ จำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทย โดยแนะนำให้เตรียมมาตรการต่างๆ ทั้งการคัดกรอง เฝ้าระวัง รวมทั้งความพร้อมของโรงพยาบาลต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ