ด้านนางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การว่างงานที่เพิ่มขึ้นมากในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยทำงานมากก่อนอยู่ที่ 1.95 แสนคน เพิ่มขึ้น 33.2% ส่วนการว่างงานของกลุ่มที่เคยทำงานมากก่อน อยู่ที่ 1.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 30.8% โดยผู้ว่างงานภาคเกษตรลดลง 5.7% และผู้ว่างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 41.3% สอดคล้องกับการเอาประโยชน์ทดแทนกรณีการว่างงานเพิ่มขึ้น 14.3% หรือคิดเป็น 1.65 แสนคน โดยเป็นการเลิกจ้างงาน 1.73 หมื่นคน และลาออกอีก 1.48 แสนคน ส่วนรายได้แท้จริงของแรงงานยังคงเพิ่มขึ้นราว 12.5%
สำหรับผลิตภาพแรงงานต่อคนในไตรมาส 2/57 เพิ่มขึ้น 3.3% โดยในช่วงปี 55-56 ผลิตภาพแรงงานของประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1% สูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 แต่เมื่อพิจารณาในรายสาขาพบว่าเป็นการเพิ่มของผลิตภาพแรงงานสาขาการผลิตเพียง 2.2% และสาขาบริการ 6.6% ส่วนสาขาเกษตรเพิ่มเพียง 0.8% แต่สัดส่วนแรงงานภาคเกษตรมีมากถึง 39.6% ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องการยกระดับผลิตภาพแรงงานในส่วนนี้มากขึ้น
นางชุตินาฎ กล่าวอีกว่า ด้านการก่อหนี้ของครัวเรือนชะลอลง โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% เป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ส่วนหนึ่งมาจากการสินสุดของมาตรการรถยนต์คันแรก และความกังวลเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำในอนาคต ทำให้ครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย
"การก่อหนี้ในปัจจุบันยังไม่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อภาพรวม แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องการผิดนัดชำระหนี้อย่างใกล้ชิด โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวมยังเพิ่มขึ้นไม่มากเพียง 2.5% ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีขึ้นก็น่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนได้เป็นอย่างดี" นางชุตินาฎ กล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2/57 สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 50.5% หรือคิดเป็น 1.28 หมื่นล้านบาท ส่วน NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 29.4% ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไป มีมูลค่า 7.49 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.4% สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ลดลง
ส่วนสถานการณ์คดีอาญา พบว่าโดยรวมลดลงร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว ส่วนอุบัติเหตุจราจรทางบก ในไตรมาส 2/57 มีผู้เสียชีวิต 1,412 ศพ ลดลงร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 14,255 ราย จากการสำรวจยังพบว่ารถตู้โดยสารเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด
ประเด็นที่สังคมต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป คือ การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเกษตร, การแก้ไขปัญหายาเสพติด, การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการรับตั้งครรภ์แทน, การระดมความร่วมมือลดอุบัติเหตุจราจรทางบก โดยเฉพาะรถตู้สาธารณะ และการส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ในเด็กปฐมวัย