สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะยังไม่พบการติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่มีความเสี่ยงที่คนไทยจะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดและผู้ที่ติดเชื้อจากประเทศดังกล่าวจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเตรียมการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการและเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือจัดทำแนวทางปฏิบัติงานแบบบูรณาการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเกิดการระบาดภายในประเทศตามแนวทางมาตรการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมุ่งเน้นการควบคุมการแพร่ระบาดครอบคลุมทุกระยะ การจัดระบบรองรับเมื่อเกิดการระบาดในวงกว้าง การกักกันผู้สัมผัสโรค ระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วย รวมถึงการฝึกซ้อมแผนแบบบูรณาการระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือและซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานในทุกพื้นที่ โดยได้กำหนดแนวการปฏิบัติที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติพ.ศ.2553 – 2557 พร้อมยึดระบบบัญชาการเหตุการณ์เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินกรณีการแพร่ระบาดของโรค โดยกำหนดผู้รับผิดชอบในการสั่งการและจัดการ รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ระดับ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและการจัดการในภาวะฉุกเฉินเชิงบูรณาการครอบคลุมทั้งวงจร
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือกำหนดแนวทางการฝึกซ้อมแผนบูรณาการและเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเกิดการระบาดภายในประเทศ โดยใช้กลไกการฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับเชื่อมโยงกับแนวทางการปฏิบัติและการควบคุมกรณีเกิดการระบาดของโรค พร้อมกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม เข้าใจบทบาทและขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเตรียมความพร้อมรับมือและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ด้านนายโอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติในการจัดการภาวะฉุกเฉินกรณีการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะสอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อและระดับการแพร่ระบาดของโรค โดยแยกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ขั้นที่ 1 ระดับสีเขียว กรณีพบผู้สงสัยติดเชื้อซึ่งเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ขั้นที่ 2 ระดับสีเหลือง กรณีพบผู้ป่วยในประเทศไทย และขั้นที่ 3 ระดับสีแดง กรณีมีการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากการสัมผัสกับผู้ป่วย โดยจะกำหนดมาตรการที่ครอบคลุมทั้งการติดตามเฝ้าระวัง การกักกันตัว การรักษาพยาบาล การจัดสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ ตลอดจนการติดตามประวัติของผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เพื่อให้สามารถตรวจพบ ผู้ติดเชื้อโดยเร็ว และควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง