2.การป้องกันการนำเข้าโรคติดต่ออุบัติใหม่จากต่างประเทศ มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการอนุญาตการเคลื่อนย้ายผ่านระบบสารสนเทศทางอินเตอร์เน็ท และศึกษาเรื่องการประเมินความเสี่ยงโรควัวบ้าของประเทศไทย 3.การพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดความรู้ให้แก่กลุ่มเสี่ยงในกิจการเลี้ยงสัตว์ การจัดฝึกอบรมและจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคติดเชื้อต่าง ๆ ให้แก่บุคลากร 4.การส่งเสริมระบบการฆ่าสัตว์ให้มีมาตรฐาน มีการจัดตั้งโครงการสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์สะอาด การแต่งตั้งคณะทำงานบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ และจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้และเพิ่มทักษะแก่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ พนักงานตรวจเนื้อ และผู้ประกอบการ
5.การฟื้นฟูระบบการเลี้ยง สายพันธุ์ และการตลาดของสัตว์เลี้ยงและสัตว์ปีกสวยงามหลังได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยพัฒนาระบบรายงานและเฝ้าระวังโรคเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า และระบบสารสนเทศเพื่อเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และการเก็บตัวอย่างเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและการจัดทำโครงการเฝ้าระวังเชิงรุกแบบบูรณาการ 6.การจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมสัตว์เชิงธุรกิจ ดำเนินการขึ้นทะเบียนสถานประกอบการต่าง ๆ อาทิ ฟาร์มที่ขอรับรองมาตรฐานฟาร์ม 16 ชนิดสัตว์ / โรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ / โรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออก / โรงงานแปรรูป การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับในไก่เนื้อ โคเนื้อ และสุกร 7.การศึกษาและวิจัยด้านการปรับระบบการเลี้ยงสัตว์และปัจจัยเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในสัตว์ การศึกษากลไกการตลาดและรูปแบบการเคลื่อนย้ายสุกรและโค-กระบือ ในพื้นที่ภาคตะวันออก และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานกำจัดซากสัตว์ปีก เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในประเทศไทย และ 8.การศึกษาความมั่นคงและความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุ์กรรมของสัตว์ป่า
ส่วนมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอิโบลาในสัตว์และสัตว์ป่า โดยการเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์จากต่างประเทศทางท่าอากาศยาน ท่าเรือและแนวชายแดน และการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งทางกรมปศุสัตว์มีความพร้อมในการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาทางห้องปฏิบัติการ รถปฏิบัติการเคลื่อนที่ การอบรมการปฏิบัติงานภายใต้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพแก่เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม กรมปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อจัดระบบการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ทับซ้อน และการของบประมาณในการเตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอิโบลาและโรคอุบัติใหม่ต่อไป
แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2556 – 2559) และการขับเคลื่อน มีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสามารถลดการป่วย การตาย และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ได้เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาและการป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่ โดยกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษาและควบคุมโรค ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว 2.การจัดการระบบการเลี้ยงและสุขภาพสัตว์ และสัตว์ป่าให้ปลอดโรค 3.พัฒนาระบบจัดการความรู้ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนา 4.พัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการ และเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และ 5.การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่