ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แนะนำให้เจาะเลือดตรวจซ้ำอีกครั้งตามแนวทางที่กำหนด รวมทั้งให้ตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ของการป่วยด้วย คาดจะทราบผลการตรวจในวันที่ 4 ก.ย.57
"หากผลการตรวจครั้งที่ 2 ให้ผลลบอีก ก็จะพิจารณาให้ผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคกลับบ้านได้ และจะติดตามผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต่อไปจนครบ 21 วัน นับจากวันที่เดินทางออกจากประเทศที่มีการระบาด"ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
สำหรับผู้อยู่ในเกณฑ์สอบสวนโรครายนี้ ไปโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ซึ่งยังไม่ชี้บ่งชัดเจนว่าเป็นโรคอีโบลาหรือโรคอื่น แต่เนื่องจากผู้เดินทางรายนี้มาจากประเทศที่มีการระบาด จึงเป็นผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลาเป็นรายแรก ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจสอบระบบความพร้อมการเฝ้าระวังโรคอีโบลาของไทยว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด หากพบว่ายังมีจุดอ่อนอย่างไร ก็จะพิจารณาแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น
ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เกณฑ์ในการวินิจฉัยและรายงานผู้ป่วยโรคอีโบล่า กำหนดเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (Person under Investigation) ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่การระบาด และมีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป 2. ผู้ป่วยสงสัย (Suspect case) เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และมีอาการไข้ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ ที่คล้ายอาการของโรคอีโบลา เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือมีอาการแย่ลงรวดเร็ว 3. ผู้ป่วยน่าจะเป็น (Probable case) คือ ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และมีอาการไข้ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ ที่คล้ายอาการของโรคอีโบลา เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือมีอาการแย่ลงรวดเร็ว และซักประวัติได้ชัดเจนว่าได้สัมผัสผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และ 4. ผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed case) เป็นผู้ป่วยที่มีลักษณะตามข้อ 1 ถึง 3 และมีผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขให้เฝ้าระวังโรคผู้ป่วยทุกประเภท ตั้งแต่ระดับแรกคือผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค