ผู้ว่าฯ สุโขทัย คาด 6-7 ก.ย.น้ำยมทะลักเข้ามาเพิ่ม ปริมาณน้ำเท่าปีก่อน

ข่าวทั่วไป Friday September 5, 2014 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ขณะนี้ว่า คาดว่าในวันที่ 6-7 ก.ย.จะมีมวลน้ำเข้าจังหวัดอีกประมาณ 1,400-1,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับปีก่อนๆ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยที่น่าเป็นห่วงคือเขตอำเภอเมืองสุโขทัย ที่ต้องป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งเมื่อวานน้ำท่วมเกือบถึงศาลากลางแต่ก็มีการระดมเครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกหมดแล้ว

ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัยมีแม่น้ำยมไหลผ่าน ซึ่งมีระยะทางยาวถึง 170 กิโลเมตร ตรงไหนมีคันกั้นน้ำที่แข็งแรงก็ไม่เป็นไร แต่ตรงไหนที่บอบบางน้ำก็จะกัดเซาะ และพื้นที่สุโขทัยเป็นอ่างกระทะ ซึ่งต้องยอมรับด้วยปัญหาของแม่น้ำยมคือเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ เพราะฉะนั้นเวลามีฝนตกทางแพร่ พะเยา น้ำก็จะลงมาที่สุโขทัย ทำให้สุโขทัยเผชิญภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ทุกปีที่ถึงฤดูน้ำหลาก

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่วนการช่วยเหลือขณะนี้ได้มีการอพยพประชาชนมาอยู่ในที่ปลอดภัยมีการตั้งโรงครัว

นายจักริน กล่าวต่อว่า จากปัญหานี้ทำให้มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการสร้างเขื่อน ซึ่งเรื่องเขื่อนนี้ศึกษากันมานานมากแล้ว แต่ก็มีกลุ่มชาวบ้านและกลุ่ม NGO ไม่ยอมเพราะเกรงว่าจะทำลายสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้จึงยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่

"อยากจะขอวิงวอนว่าจังหวัดสุโขทัยน้ำท่วมทุกปีเสียหายมาก พอหน้าแล้งก็แล้ง ไม่ใช่แค่จังหวัดเดียวแต่ลงไปถึงพิจิตร พิษณุโลก" นายจักริน กล่าว

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากภาวะฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ ได้แก่ สุโขทัยและพิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เนื่องจากจะมีน้ำจากพื้นที่ตอนเหนือไหลลงมาสมทบ ส่งผลให้สถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสุโขทัยขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงจังหวัดพิษณุโลกอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะจังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตามลำน้ำหลักและลำน้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้น 1 – 2 เมตร ทำให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากน้ำล้นตลิ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ