นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย"อินโฟเควสท์"ว่า สถานการณ์แม่น้ำยมล้นตลิ่งแห่งเดียวจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพใหญ่ของลุ่มเจ้าพระยาแน่นอน เพราะปิง วัง และน่าน น้ำยังไหลในเกณฑ์ปกติ ดังนั้น พื้นที่ทางเศรษฐกิจทางทางภาคกลางและกรุงเทพมหานคร(กทม.)จะไม่ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกเพิ่มในพื้นที่ โดยเฉพาะใน กทม.
"ผมเชื่อว่าหลังวันลอยกระทงไปก็จะเป็นปกติ ระดับน้ำที่สูงขึ้นเป็นปกติ แต่มั่นใจว่าน้ำจะไม่ล้นตลิ่งเจ้าพระยา ไม่เหมือนปี 54 แน่นอนครับ"นายสุเทพ กล่าว
ทั้งนี้ จากการตรวจวัดที่สถานีตรวจวัดน้ำที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ทางเหนือของ จ.สุโขทัยช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่า อัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 1,334 ลบ.ม./วินาที มวลน้ำนี้จะต้องไหลมาที่ อ.เมืองสุโขทัย ซึ่งกรมชลฯ พยายามบริหารจัดการด้วยการระบายน้ำส่วนหนึ่งผ่านคลองหกบาทสู่แม่น้ำน่าน
อีกส่วนหนึ่งจะไหลลงมาทางแม่น้ำยมสายเก่าลงสู่คลองหลักในพื้นที่ของ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และจะมาค้างอยู่ในแก้มลิงบางระกำช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะไผลออกมาสู่อีกครั้งแม่น้ำยม และมาค้างอยู่ที่ อ.สามง่าม อ.โพทะเล จ.พิจิตร อีกระยะหนึ่ง จึงจะเข้าสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลายาวนานกว่าจะออกจากทุ่งบางระกำผ่าน อ.สามง่าม และ อ.โพทะเล
ปัจจุบันน้ำที่ไหลออกมาที่ปากแม่น้ำยมอยู่ที่อัตรา 200 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น ถือว่าเป็นอัตราปกติในช่วงฤดูน้ำหลาก ส่วนน้ำน่านตอนนี้เมื่อรวมกับน้ำยมแล้วที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีอัตราการไหลอยู่ที่ 790 ลบ.ม./วินาที คิดเป็น 50% ของความจุลำน้ำที่อยู่ที่ 1,520 ลบ.ม./วินาที ส่วนน้ำปิง เมื่อเช้าอยู่ที่ 300 ลบ./วินาที คิดเป็น 1 ใน 6 ของความจุลำน้ำที่อยู่ที่ 1,815 ลบ.ม./วินาที
ส่วนน้ำที่บรรจบรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เมื่อเช้าตรวจวัดที่ค่ายจิรประวัติ ทางตอนท้าย อ.เมือง จ.นครสวรรค์ วัดได้ 1,112 ลบ.ม./วินาที แค่ 1 ใน 3 ของความจุลำน้ำ 3,590 ลบ.ม./วินาที
อย่างไรก็ตาม น้ำจำนวนนี้เมื่อมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ก็จำเป็นต้องระบายออกไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดน้ำสะสมทางตอนเหนือของเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อเกิดฝนตกใหม่เพิ่มลงมาจะระบายไม่ทัน ดังนั้น พื้นที่ชุมชนริมน้ำแถวอยุธยา อ่างทอง เช่น ชุมชนริมคลองโผงเผงที่ปลูกบ้านอยู่ริมน้ำคงเข้าใจสถานการณ์ในช่วงฤดูน้ำหลากเป็นอย่างดี ก็จะเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
"ชาวบ้านริมน้ำจะเข้าใจสถานการณ์ดี ว่าทุกปีช่วงกันยายน ตุลา พฤศจิกา เป็นช่วงน้ำหลาก แต่เราก็ต้องแจ้งเตือนชุมชนริมน้ำเป็นปกติทุกปีว่าอย่าลืมเก็บสิ่งของมีค่า"
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จ.แพร่ และ สุโขทัย รองอธิบดีกรมชลประทาน อธิบายว่า น้ำที่ จ.แพร่ เกิดจากฝนที่ตกในอ.ปง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ลงมาที่ อ.สอง, อ.ร้องกวาง, อ.สอง, อ.วังชิ้น ของ จ.แพร่ เพราะลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ เมื่อฝนตกไม่ว่าจะมากหรือน้อย น้ำก็จะไหลลงมาเรื่อยๆ ชาวบ้านที่อยู่ติดกับลำน้ำยมจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นนี้ทุกปี
"น้ำที่ไหลผ่านจังหวัดแพร่อย่างไร ก็ต้องผ่านสุโขทัยด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีเขื่อนไม่มีอ่างเก็บกักน้ำเลย ปกติจะท่วมเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ ปีนี้ถือว่าช้า"นายสุเทพ กล่าว