กรมชลฯ เผยปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย

ข่าวทั่วไป Monday September 8, 2014 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(8 ก.ย. 57) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,905 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,105 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,877 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,027 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 482 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 439 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 460 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 457 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา(8 ก.ย.) สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,292 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(รับน้ำได้สูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 4.32 เมตร สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,020 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(รับน้ำได้สูงสุด 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อน ยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 4.80 เมตร และที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,024 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 2.30 เมตร (ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอ.บางไทร เป็นจุดวัดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเข้าสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีความสามารถรับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที)

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ขณะเดียวกันได้เน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จึงขอให้เกษตกรเน้นการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนให้มากที่สุด พร้อมขอให้ร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ