เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสาน 15 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 3 ปราจีนบุรี เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 17 จันทบุรี เขต 18 ภูเก็ต จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขา จุดอ่อนน้ำท่วมขัง
พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก หากไม่มั่นคงแข็งแรงและเป็นอันตรายให้พิจารณาสั่งปิดและอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่หรือ สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป