ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพฝนจากปัจจุบันไปจนสิ้นสุดฤดูฝน มีแนวโน้มว่าในพื้นที่ภาคตะวันออก จะมีฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ หรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์น้อย
สำหรับในพื้นที่จ.ชลบุรี มีแหล่งน้ำต้นทุนประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่เมืองพัทยาอีก 5 แห่ง คือ อ่างฯมาบประชัน อ่างฯซากนอก อ่างฯหนองกลางดง อ่างฯห้วยสะพาน และอ่างฯห้วยขุนจิต โดยได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ในลักษณะของการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างอ่างเก็บน้ำและมีระบบส่งน้ำ เพื่อการท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรม
ในพื้นที่จังหวัดระยอง มีแหล่งน้ำประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ การบริหารจัดการน้ำจะมีลักษณะเหมือนกับจังหวัดชลบุรี คือการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างอ่างเก็บน้ำ และมีระบบส่งน้ำ รวมทั้ง การสูบผันน้ำจากอ่างฯประแสร์ไปยังอ่างฯคลองใหญ่ ผ่านทางระบบท่อ ที่ได้ดำเนินการสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 57 เป็นต้นมา การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอใช้ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งหน้านี้อย่างไม่ขาดแคลน
ส่วนแผนระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของภาคตะวันออก มีดังนี้ โครงการก่อสร้างระบบท่อผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต - อ่างเก็บน้ำบางพระ คาดว่าจะเริ่มสูบน้ำได้ประมาณเดือนธันวาคม 2557 , โครงการเพิ่มความจุเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ และ โครงการเพิ่มความจุเก็บกักของอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ทั้ง 2 โครงการฯนี้ อยู่ระหว่างสำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
ส่วนโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองชลประทานพานทองเชื่อมต่อระหว่างระบบท่อผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 70 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากโครงการต่างๆที่กล่าวมา ดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการใช้น้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายตัวทั้งภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ในเขตจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ในระยะยาวได้เป็นอย่างดี