อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมชลประทานประเมินสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กังวลในเรื่องปริมาณน้ำที่เก็บกักจะไม่เพียงพอกับการเพาะปลูกของเกษตรกร จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนใน 3 มาตการหลัก คือ 1. การแจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกรและประชาชนเป็นระยะและต่อเนื่อง ซึ่งจะมีทั้งข้อมูลจากการคาดการณ์สภาวะอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่า เพื่อประเมินพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบ และสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นด้วย
2. การจัดทำแผนเผชิญเหตุ ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นในการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอกับการทำการเกษตรในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ของเกษตรกร ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หรือภายในเดือนกันยายนนี้
3. การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งแผนระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา ในการสร้างทางเลือกให้แก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไปผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นที่มีความเหมาะสม หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,047 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,247 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,075 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,225 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 539 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 496 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 568 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 565 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 13,642 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเติมน้ำในเขื่อนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง และบรรเทาผลกระทบในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องด้วย
นายปีติพงศ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการลงพื้นที่แก้มลิงทุ่งบางบาลนั้นต้องถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยพบว่า สามารถเก็บกักน้ำได้ ในช่วง Peak Flood เพื่อบรรเทาอุทกภัยขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ช่วยลดความเสียหายของผลผลิตโดยเกษตรกรจะหยุดการทำนาปรังในช่วงฤดูน้ำหลาก ขณะเดียวกัน เกษตรกรในพื้นที่ยังมีการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวใหม่ ซึ่งมีการทำนาปรัง 2 ครั้ง ไม่ทำนาปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสามารถเพิ่มผลผลิตจากเดิมปีละ 20-30 ถัง/ไร่ เป็น 100-120 ถัง/ไร่/ฤดูกาล ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีแผนที่จะขยายผลไปยังพื้นที่บริเวณอื่นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความเหมาะสมที่จะบริหารจัดการและพัฒนาในลักษณะดังกล่าวมีอยู่อีก 7 แห่ง เช่น พื้นที่ป่าโมก-ผักไห่ และ พื้นที่อ่างทองฝั่งตะวันตก เป็นต้น