สศช.หนุน 7 ชาติสมาชิก GCEC จัดสัมมนา"เศรษฐกิจภูมิอากาศแนวใหม่"ต.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Friday September 19, 2014 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค.นี้จะจัดงานสัมมนาเพื่อติดตามและให้ข้อมูลเรื่องรายงานเศรษฐกิจภูมิภาคอากาศแนวใหม่ เศรษฐกิจก้าวไกล ใส่ใจภูมิอากาศ(The Better Growth, Better Climate:The New Climate Economy) ซึ่งคณะกรรมการโลกว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและภูมิอากาศ หรือ GCEC(The Global Commision on the Economy and Climate) เผยแพร่รายงานฉบับนี้ออกมาเมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา และได้มอบรายงานดังกล่าวให้กับ สศช.ในวันนี้

รายงานฉบับนี้ ระบุว่า ในระยะ 15 ปีข้างหน้า เมืองใหญ่ในโลกจะใช้เงินลงทุนกว่า 9 หมื่นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร และพลังงาน ซึ่งจะเป็นโอกาสของการลงทุนเพื่อการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ(Low Carbon Growth) และนำไปสู่ประโยชน์ในด้านการสร้างงาน สุขภาพ การผลิตเชิงธุรกิจและคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ ยังระบุถึงโอกาสการพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณต่ำใน 3 ภาคส่วนของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ 1) การบริหารจัดการเมืองใหญ่ ด้วยการสร้างเมืองเล็ก ๆ และเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ที่สามารถประหยัดงบลงทุนได้กว่า 3 พันล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะ 15 ปีข้างหน้า

2) การใช้ที่ดิน จากการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมสภาพเพียง 12% ก็สามารถผลิตอาหารสำหรับประชาชน 200 ล้านคน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากที่ดินเสื่อมสภาพ และ 3) การใช้พลังงาน จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ

"สำหรับประเทศไทยนั้นคงต้องมาดูวิธีการใช้ที่ดินที่เสื่อมสภาพว่าจะฟื้นฟูขึ้นมาอย่างไร และส่งเสริมการใช้พลังานทางเลือกต่าง ๆ ส่วนการจะทำให้ทั้ง 3 ส่วน ต้องอาศัย ปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การสนับสนุนนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างนวัตกรรม ด้วยการเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เพื่อทำให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของนวัตกรรม เป็นต้น" นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ไม่ได้มีข้อผูกพันระหว่างประเทศเพื่อมาบังคับใช้ แต่เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการพัฒนา ซึ่ง สศช. ได้มีเรื่องในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งในอยู่ในปัจจุบันในเรื่องการดูแลสภาพภูมิอากาศและการเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างเมืองผ่านระบบรางด้วย

"รายงานนี้บอกว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการดูแลสภาพภูมิอากาศ สามารถทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องแยกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง" นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการโลกว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและภูมิอากาศ หรือ GCEC มีประเทศสมาชิกร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2556 ทั้งสิ้น 7 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ นอร์เวย์ สวีเดน โคลัมเบีย เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ