โดยในช่วง 7 เดือนแรกพบว่า ไทยส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างไปฮ่องกงปรับตัวลดลงมากเหลือเพียง 268.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปี 56 อยู่ที่ 997.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งออกอยู่ที่ 188.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปีก่อนอยู่ที่ 464.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าวเหลือเพียง 119.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปีที่แล้วส่งออกไป 185.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอัญมณีเครื่องประดับส่งออกอยู่ที่ 1.52 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โตขึ้นเพียง 30% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 40% จากปีก่อน 2.18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ ปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปฮ่องกง ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยลดลงเหลือเพียง 47% จากเดิมอยู่ที่ 90% จากข้าวไทยมีปัญหาเรื่องการปลอมปน คุณภาพข้าวลดลง รวมทั้งคู่แข่งมีการทำบรรจุภัณฑ์ที่ใกล้เคียงข้าวถุงไทยแต่ขายในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งปัจจุบันคุณภาพข้าวคู่แข่งไม่ต่างจากไทยทั้งเวียดนามและกัมพูชา ทำให้ตลาดกลุ่มร้านอาหาร (Catering) หันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งแทน ฉะนั้นจึงมีมาตรการแก้ปัญหาข้าวไทยปลอมปน เพื่อรักษาคุณภาพข้าวไทยไม่ให้เกิดปัญหาระยะยาว รวมถึงดึงลูกค้ากลุ่ม Catering มาพบกับผู้ส่งออกข้าวไทยในช่วงเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นจังหวะที่มีผลผลิตข้าวใหม่ออกมาด้วย เพื่อกระตุ้นการซื้อข้าวหอมมะลิจากไทย
ขณะที่การส่งออกผลไม้ไทยไปฮ่องกงเติบโตเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องด้วยคนจีนและฮ่องกงนิยมบริโภคผลไม้ไทยทั้งทุเรียน มะม่วง มังคุด อย่างไรก็ตามสินค้าไทยต้องใช้ความได้เปรียบของฮ่องกงในฐานะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและโลจิสติกส์ให้มากขึ้น โดยมองว่าฮ่องกงเป็นตลาดที่จะกระจายสินค้าไปสู่ทั่วโลกได้
นายวิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้าของการเจรจาทำเขตการค้าเสรี (FTA) อาเซียนกับฮ่องกง ซึ่งมีการเจรจาอย่างเป็นทางการไปแล้วรอบแรก อยากให้อาเซียนมองว่า ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและลอจิสติกส์ที่จะเป็นประตูส่งออกสินค้าไปจีนและทั่วโลก จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกันเอง มากกว่าอาเซียนไม่ได้ประโยชน์ด้านภาษี เนื่องจากฮ่องกงไม่มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้า