สภาพัฒน์เปิดแผนพัฒนาประชาชากรเน้นพัฒนาทุกมิติ ลดเหลื่อมล้ำ

ข่าวทั่วไป Friday September 26, 2014 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า บริบทการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตเป็นสังคมเมืองและเลียนแบบตะวันตก เทคโนโลยี นวัตกรรม ภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และบทบาทเอเชียที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ล้วนมีผลต่อคนไทยและสังคมไทย จึงต้องพัฒนาคนเพื่อให้มีคุณลักษณะที่รองรับและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทำให้ต้องเร่งกำหนดแนวทางการพัฒนาคนในทุกมิติของการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในสังคม เพื่อให้การพัฒนามีความยั่งยืน และประชาชนในประเทศได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

โดยแนวทางการพัฒนาศักยภาพคนไทย ประกอบด้วย (1) เสริมสร้างพัฒนาการที่สมวัยของเด็กปฐมวัย โดยจัดให้มีระบบการคัดกรองสุขภาพและการให้บริการสาธารณสุขให้กับหญิงตั้งครรภ์/มารดาหลังคลอด และทารกที่มีคุณภาพ (2) ส่งเสริมให้กลุ่มนักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคนในกลุ่มนักเรียน มุ่งยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (3) พัฒนาทักษะชีวิตและทักษะการทำงานในกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา โดยให้สถาบันการศึกษาของรัฐ ผลิตช่างฝีมือ แรงงานที่มีคุณภาพ (4) พัฒนาทักษะและสมรรถนะของแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดให้แรงงานทั้งระบบมีการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน และ (5) พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของผู้สูงอายุ

แนวทางการสร้างความมั่นคงในชีวิต โดย (1) เตรียมความพร้อมให้เด็กปฐมวัยเป็นคนไทยที่มีความมั่นคงในชีวิต โดยการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ครัวเรือนไทย (2) สร้างโอกาสทางการศึกษาในระดับสูง และประสบการณ์การทำงานจริง เพื่อวางรากฐานความมั่นคงในชีวิตของนักศึกษา โดยส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (4) สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แรงงาน ส่งเสริมแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมและการออมมากขึ้น (5) สร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุ สร้างความมั่นคงทางด้านการเงินยามชราภาพ

ส่วนแนวทางการสร้างความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย โดย (1) สร้างความอบอุ่นให้เด็กปฐมวัย โดยการส่งเสริมการให้บริการศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อน (0-3 ปี) ที่ได้มาตรฐาน (2) วางรากฐานจริยธรรม คุณธรรมเพื่อความอยู่ดีมีสุขของเด็กนักเรียน โดยการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเชื่อมโยงกับสถานศึกษาในการเสิรมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ (3) สร้างถูมิคุ้มกันให้นักศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและการก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ โดยการพัฒนาหลักสูตรครอบครัวศึกษา (4) ส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัวสำหรับวัยแรงงาน โดยสร้างความสมดุลระหว่างเวลาทำงานและเวลาที่ให้กับครอบครัว และ (5) สร้างคุณค่าและความอบอุ่นในวัยผู้สูงอายุโดยการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชากรสามวัยในชุมชนในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในแต่ละช่วงวัย

ดังนั้นต้องพัฒนาคนในมิติเศรษฐกิจ โดยมีแนวทางการพัฒนากำลังคนที่อยู่ในภาคการผลิตและบริการในปัจจุบัน ได้แก่ (1) สนับสนุนให้เกิดการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการและการผลิตกำลังคนสำหรับภาคการผลิตและบริการ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่เป็นระบบและต่อเนื่อง (2) พัฒนาและส่งเสริมการใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพในภาพอุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างจริงจัง และขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์เชื่อมโยงกับการกำหนดค่าตอบแทนตามทักษะฝีมือแรงงานอย่างเต็มรูปแบบ (3) ปรับปรุงขั้นตอนและระบบการขอรับสิทธิประโยชน์จากการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 (4) เพิ่มผลิตภาพกำลังคนในภาคเกษตร (5) จัดทำนโยบายที่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ดี โดยกำหนดมาตรการแผนงานหรือโครงการที่ส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานต่างประเทศ (6) ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน และ (7) ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งสถานที่ทำงานและสถานศึกษาให้เป็นแหล่งวัฒนธรรมการเรียนรู้

แนวทางการพัฒนาและเตรียมความพร้อมของกำลังคนที่กำลังจะเข้าสู่ภาคการผลิตและบริการในอนาคต ได้แก่ (1) ปรับโครงสร้างระบบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมขจองนักเรียนนักศึกษาที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นกำลังแรงงาน (2) พัฒนาระบบครูแนะแนวการศึกษา (3) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ส่วนการพัฒนาคนในมิติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของคนในฐานผู้บริโภค มีแนวทางการพัฒนาดังนี้ (1) ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกที่ดีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต เพื่อลดปัญหาความยากจน (3) สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยสร้างผู้นำชุมชนที่เสียสละและเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน (4)เรียนรู้และปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มดันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (5) มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการร่วมบริหารจัดการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

คนในฐานะผู้ผลิตมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้ (1) ปรับเปลี่ยนทัศนคติและคำนิยมสู่การผลิตสีเขียวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตที่ยั่งยืน (2)ลงทุนพัฒนา วิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและมาตรฐานคุณภาพสินค้า พัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตและจัดการสิ่งแวดล้อม (3) วางแผนเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภัยพิบัติซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และ (4) ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ อย่างเคร่งครัด

ส่วนคนในฐานะเป็นผู้ส่งเสริม กำกับ และควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทางพัฒนาที่สำคัญ ดังนี้ (1) สร้างองค์ความรู้และปลูกจิตสำนักรับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมีระบบ (2) กำหนดนโยบาย ที่ส่งเสริมและนำไปสู่การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนในสังคม (3) ปรับปรุงเครื่องมือและกลไกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการจัดการให้มีประสิทธิภาพ (4) ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม (5)จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และส่งเสริมการนำไปปฏฺบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

การสร้างสภาพแวดล้อมเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตระดับนโยบาย โดยส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดกพลังงาน รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ระดับท้องถิ่น เลือกใช้เทคโนโลยีที่ลงทุนไม่แพงและชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ และใช้ทุนทางสังคมที่มีในชุมชนเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงาน และเน้นการบริหารจัดการตนเองเป็นหลัก ระดับชุมชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้บุคลากรทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปรับรู้วิสัยทัศน์และเห็นภาพร่วมกันในการขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่

แนวทางการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม (1) เพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนจน คนเกือบจน และผู้ด้อยโอกาส (2)ปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบให้สนับสนุนการกระจายรายได้และเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพ (3) ยกระดับระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาส (4) ปรับปรุงระบบการบริหารราชการแผ่นดินของภาครัฐให้สนับสนุนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (5) ใช้กลไกเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และ (6) การพัฒนาเครื่องมือเพื่อการดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ