ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญสูงสุดในการควบคุมการระบาดของโรคอีโบลาในประเทศแอฟริกาตะวันตกที่กำลังทวีความรุนแรงและจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมการระบาดในประเทศต้นทาง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยจะนำเสนอแผนความช่วยเหลือแก่ประเทศต้นทางการระบาดของโรคให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด
รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกร่วมกับนานาชาติ เป็นไปกรอบกฎอนามัยระหว่างประเทศ ทั้งในฐานะประเทศที่มีส่วนร่วมและประเทศผู้นำ ในเรื่องการพัฒนาเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุขและการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุขในสาขาระบาดวิทยา ซึ่งไทยมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และจะร่วมในการป้องกันควบคุมปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อยาปฏิชีวนะด้วย เนื่องจากกำลังเป็นปัญหากระทบทั่วโลก พบหลายโรค เช่น วัณโรค ในปี 2555พบผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 450,000ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อชนิดดื้อยารายใหม่ร้อยละ 6 ส่วนรายเก่าพบร้อยละ 24 และยังพบในโรคมาลาเรีย หนองใน เอชไอวี และไข้หวัดใหญ่ หากไม่ช่วยกันเร่งแก้ไขจะมีผลทำให้ผู้ป่วยป่วยนานวันขึ้น มีอาการรุนแรง เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้น และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากยาที่ใช้อยู่เดิมอาจไม่ได้ผล หรือต้องใช้ขนาดยาให้แรงขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งนพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ประสานงานหลักของกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานตามกรอบวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปคำมั่นที่ให้ไว้ในที่ประชุมอย่างเป็นรูปธรรม
“ไทยยังได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกในครั้งต่อไปโดยเชิญประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก และกลุ่มประเทศผู้สนับสนุนทุนเข้าร่วมประชุม" ในการประชุมคราวนี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับทางผู้บริหารองค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐ และ USAID ถึงการสนับสนุนการควบคุมโรคอีโบลา ซึ่งจะได้นำเสนอขอความเห็นชอบต่อครม. โดยเร็วต่อไป" รมว.สาธารณสุข กล่าว