กษ.-ก.ทรัพย์-มท.ร่วมบูรณาการจัดทำแผนป้องกันภัยแล้งที่คาดปีนี้รุนแรงก่อนเสนอครม.

ข่าวทั่วไป Friday October 3, 2014 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมร่วมสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 และปัญหาด้านอื่นๆ

ภายหลังการประชุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันแถลงถึงแนวทางการมอบนโยบายความร่วมมือประสานการปฏิบัติ ในการเตรียมความพร้อมการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 และปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ การแก้ปัญหาที่ดิน และปัญหาขยะ

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จากการประเมินคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้จะรุนแรงมากและยาวนานจนกว่าจะถึงฝนหน้าเพราะปริมาณน้ำที่กักเก็บของกรมชลประทานค่อนจะต่ำกว่าเกณฑ์ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ต้องดูแลเรื่องระบบนิเวศน์เป็นหลัก ทำให้เหลือน้ำสำหรับทำการเกษตรน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าจะได้รายละเอียดชัดเจนว่าพื้นที่ไหนบ้างที่จะประกาศพื้นที่ให้ปลูกอะไรได้หรือปลูกอะไรไม่ได้ และจะกำหนดกรอบการเยียวยา

"ตอนนี้ต่างคนต่างมีข้อมูล ก็จะมาบูรณาการกัน ภายในต้นสัปดาห์รายละเอียดต่างๆจะชัดเจนว่าตรงไหนวิกฤต และแผนช่วยเหลือเป็นยังไง และจะนำเข้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ต่อไป"

ด้านนายปีติพงศ์ กล่าวว่า ที่ต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรฯ เนื่องจากปัญหาเรื่องน้ำในฤดูทำนาปรังที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการประมาณการของกรมชลประทานพบว่าน้ำที่จะใช้ทำนาปรังมีน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย ที่มีอยู่ก็ต้องใช้ใน 2 ส่วน คือ อุปโภคบริโภค และผลักดันน้ำเค็มที่อาจทะลุทะลวงเข้าสู่พื้นที่การเกษตรซึ่งลุ่มนำที่จะมีปัญหาคือลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งขณะนี้กำลังทำแผนที่เพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่จะมีปัญหาให้เกิดความชัดเจน ส่วนเรื่องการเยียวยาได้เตรียมในส่วนของการจ้างงานไว้เป็นส่วนใหญ่ เช่น จ้างเกษตรกรขุดลอกคูคลองโดยจ่ายค่าแรงงานวันละ 300 บาท "กระทรวงมหาดไทยซึ่งทำงานด้านการดูแลองค์ปกครองท้องถิ่นจะช่วยทำความเข้าใจกับเกษตรกรในเรื่องเหล่านี้ ส่วนกระทรวงทรัพยากรฯ จะช่วยดูแลในส่วนของพื้นที่นอกชลประทาน"

ด้านกรมชลประทาน ระบุว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงเดือน ต.ค.นี้ อากาศเย็นจากประเทศจีนจะเคลื่อนตัวกดดันแนวฝนของไทยลงมายังภาคกลาง ทำให้ภาคเหนือแทบจะไม่มีฝนมาเติมในเขื่อนภูมิพลอีก จึงคาดได้ว่า ณ วันที่ 1 พ.ย.57 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูแล้ง เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น โดยจะต้องกันน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝนปีหน้าอีกประมาณ 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ชาวนาเริ่มปลูกข้าวได้พร้อมกัน ลดปัญหาในช่วงน้ำหลาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ไม่มีแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรัง

ขณะที่พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า กระทรวงจะเดินหน้าตามนโยบายที่วางไว้ โดยเฉพาะ 3 ปัญหาสำคัญด้านป่าไม้ น้ำ และขยะ ที่จะต้องเร่งแก้ไขให้ได้ตามกำหนดเวลา ซึ่งปัญหาด้านบุกรุกป่าในขณะนี้มีการเดินหน้าแก้ไขแต่ละจุดอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานร่วมกันส่วนภาคราชการต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการแก้ไขที่ถูกต้องและไม่เกิดปัญหาซ้ำซาก ทั้งนี้ ยอมรับว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาหลากหลาย จึงต้องให้แต่ละหน่วยงานแต่ละพื้นที่แยกรายละเอียดของปัญหา เพื่อคิดวิธีแก้อย่างเหมาะสมถูกต้องเป็นธรรมภายใต้กฎหมายที่รองรับ หรือในกรอบที่กฎหมายเอื้อให้สามารถกระทำได้

อีกทั้งยังได้รับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรีในเรื่องจัดสรรที่ทำกินให้คนยากจน กระทรวงกำลังจัดหาพื้นที่เหมาะสมทั้งป่าที่เสื่อมสภาพ หรือล่าสุดในความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กันพื้นที่ ส.ป.ก. คืนกว่า 3 ล้านไร่ ก็จะนำมาจัดสรรให้กับผู้ที่เหมาะสมด้วยส่วนหนึ่ง แต่ต้องคิดกระบวนการให้สิทธิทำกินอย่างรัดกุมไม่ให้เกิดปัญหาโอนถ่ายเปลี่ยนมือเช่นปัจจุบัน

ส่วนปัญหาน้ำ อีก 1 เรื่องเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลทันที ด้วยแนวโน้มปีนี้อาจเกิดปัญหาภัยแล้งหลายพื้นที่ กระทรวง และหน่วยงานในสังกัด เช่นกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำ จะเข้าหารือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการรับมือ ช่วยเหลือทั้งด้านเกษตร อุปโภคบริโภค โดยทั้ง 3 กระทรวงจะดูแผนงานและเครื่องมือที่มีอยู่ว่าเพียงพอในการแก้ไขปัญหาหรือไม่เพียงใด มีโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างไรบ้างเพื่อเสริมศักยภาพในการทำงานแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์สถานการณ์แล้วไม่สามารถรับมือได้ทั้งหมด รัฐบาลจะเข้ามาประสานให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อให้วิกฤติภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นเบาบางลง และไม่กระทบต่อประชาชนมากเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ