"ขณะนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวบางพื้นที่อากาศเริ่มหนาวเย็นลงและบางพื้นที่ยังมีฝนตกอยู่ อาจทำให้ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป เช่น ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวาย เป็นต้น เสี่ยงป่วยได้ง่าย โรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงนี้มี 2 โรค คือไข้หวัดใหญ่ซึ่งแต่ละปีพบผู้ป่วย 50,000-60,000 ราย และโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด และมักเกิดแทรกซ้อนตามหลังโรคทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แต่ละปีพบผู้ป่วยประมาณ 200,000 ราย เสียชีวิตปีละ 1,000 กว่าราย" นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าว
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากติดตามข้อมูลการเฝ้าระวังโรคย้อนหลังพบว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะพบผู้ป่วยสูง 2 ช่วง คือมกราคมถึงมีนาคม และกรกฎาคมถึงตุลาคม ส่วนโรคปอดบวมพบผู้ป่วยสูง 2 ช่วง คือกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน และมกราคมถึงมีนาคม นอกจากนี้ยังพบว่า จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด 10 จังหวัดแรก ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเตือนภัยหนาว ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการเจ็บป่วย และกำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยและเป็นกลุ่มเสี่ยงขอให้ดูแลรักษาตามแนวทางการรักษา
นอกจากนี้ ยังให้เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีความรุนแรง แหล่งแพร่เชื้อมาจากสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ เป็ด แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 ปี และไม่พบสัตว์ปีกติดเชื้อเป็นเวลา 6 ปีก็ตาม แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เนื่องจากมีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยหรือตาย ขอให้สงสัยอาจติดเชื้อนี้ และให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งได้จัดเตรียมยาไว้แล้ว
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงที่อากาศเปลี่ยนจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว ขอแนะนำให้ประชาชนดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อกำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติดมากับมือ ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้พักผ่อนให้มากๆ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง และสวมหน้ากากอนามัย หยุดเรียน หยุดทำงาน เพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปติดคนอื่น โดยหากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันขอให้พบแพทย์ เนื่องจากอาจมีอาการแทรกซ้อนได้
ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปถึง 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด และเบาหวาน หากป่วยมีอาการไข้ไอเจ็บคอน้ำมูก ขอให้พบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป ให้หยุดงานและพักผ่อนให้มากๆ ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือฟอกสบู่ และหากมีอาการหอบเหนื่อยให้รีบพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งว่ามีอาการปอดบวม ทั้งนี้ ประชาชนมีข้อสงสัย สามารถปรึกษา หรือขอคำแนะนำที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง