ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพฝนตั้งแต่ในช่วงต้นฤดูฝนปี 57 เป็นต้นมา พบว่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย ในขณะที่ยังต้องระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อส่งน้ำมาเสริมน้ำฝนให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีมากกว่าปกติ จึงส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
กรมชลประทาน ได้ประเมินสภาพน้ำต้นทุนจากสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และข้อมูลคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 57 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสี่เขื่อน จำนวนประมาณ 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้ง ยังไม่สามารถจัดสรรน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยสนับสนุนได้เหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว จะต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2558 เพื่อใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ และการเพาะปลูกพืชฤดูฝน(เป็นฤดูที่เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้อย่างมั่นคงทั้งลุ่มน้ำ) จำนวนประมาณ 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ในกิจกรรมต่างๆ เพียง 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปีนี้