"เมื่อเร็วๆ นี้ TCELS ได้ลงนามความร่วมมือกับทั้งสองมหาวิทยาลัย เพื่อวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างครบวงจร เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านชีววิทยาศาสตร์ในสาขาที่ขาดแคลน การจัดทำเครือข่ายฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เครื่องสำอาง ยา ชีววัตถุ ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการและพร้อมเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ร่วมกันอีกด้วย" นายนเรศ กล่าว
ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาราคายางพาราตกต่ำเนื่องจากปริมาณการผลิตออกมามากกว่าความต้องการของท้องตลาดส่งผลให้เกษตรกรเกิดความเดือดร้อน TCELS ได้ให้ทุนสนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่ปี 2549 ได้วิจัยจนพบว่าในสารสกัดจากน้ำยางพารานั้นมีคุณสมบัติทำให้ผิวขาวได้ จนมีการต่อยอดและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาว เซรัมหน้าใส เซรัมบำรุงใต้ตา เจลล้างหน้าลดความตึงผิวเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิวหน้า รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผมลดการหลุดร่วงของเส้นผม ซึ่งต่อมาได้ขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานในระดับสากล
ด้านนางรพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล นักวิจัยจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในฐานะที่คลุกคลีกับการวิจัยยางพารามากว่า 20 ปี พบว่า ในน้ำยางพารานั้นมีแหล่งสารที่เป็นประโยชน์มากมาย นอกจากช่วยเรื่องการชะลอวัยแล้ว ยังสามารถดูแลสุขภาพ โดยเสริมสร้างสุขภาพและภูมิคุ้มกันต้านโรคมะเร็งได้
"หลังจากทดสอบในสัตว์ทดลองแล้วปรากฎผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบในอาสาสมัคร" นางรพีพรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังสามารถระบุถึงแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรได้เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มแรก แต่เชื่อว่า หากรัฐบาลเข้ามาช่วยเรื่องการตลาด เพื่อให้ขยายสู่ต่างประเทศ จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาวได้ เนื่องจากตลาดเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ชะลอวัย ตลอดจนตลาดสุขภาพ เป็นตลาดที่ใหญ่มาก