พร้อมย้ำว่า การงดส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ เป็นการงดส่งน้ำเพื่อการทำนาปรังทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบไปด้วยพื้นที่ 22 จังหวัด คือ ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
โดยกรมชลประทาน ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่งดทำนาปรัง ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ในโครงการจ้างงานในพื้นที่ ด้วยงบปกติและงบกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะได้รับค่าจ้างงาน ตามลักษณะงานที่ทำ อาทิ การกำจัดวัชพืช การขุดลอกคูคลอง และการซ่อมแซมคลองส่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งโครงการชลประทานต่างๆ จะเริ่มประกาศรับสมัครจ้างงาน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ สำหรับเกษตรกรที่มีความสนใจจะเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ของตนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(28 ต.ค. 57) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,977 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,177 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,819 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,969 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 777 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 734 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 799 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 796 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 6,676 ล้านลูกบาศก์เมตร