ทั้งนี้ กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ รายงานผลการปฏิบัติงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เมื่อสิ้นปีงบประมาณปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบการกำหนดแนวทาง วิธีการรายงานผล และแบบรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติ
นอกจากนี้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดทำคำแปลบทสรุปแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับเผยแพร่นานาประเทศ โดยการจัดทำคำแปลจะประสานผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา
สำหรับสาระสำคัญของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อนำไปสู่สังคม สันติสุข ซึ่งมีทิศทางครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้ง 11 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสาธารณสุข 2) ด้านการศึกษา 3) ด้านเศรษฐกิจ 4) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 5) ด้านที่อยู่อาศัย 6) ด้านวัฒนธรรมและศาสนา 7) ด้านข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 8) ด้านการขนส่ง 9) ด้านการเมืองการปกครอง 10) ด้านกระบวนการยุติธรรม 11) ด้านความมั่นคงทางสังคม ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายที่มีผลกับความมั่นคงทางสังคมและเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 15 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ต้องหา/ผู้ต้องขัง 2) กลุ่มผู้พ้นโทษ 3) กลุ่มผู้ต้องหาคดียาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545/กลุ่มผู้ติดยาเสพติด และผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 4) กลุ่มเหยื่อ/ผู้เสียหาย 5) กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ 6) กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 7) กลุ่มคนจน/ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา 8) กลุ่มเกษตรกร 9) กลุ่มผู้สูงอายุ 10) กลุ่มเด็กและเยาวชน 11) กลุ่มสตรี 12) กลุ่มคนพิการ 13) กลุ่มผู้ไร้รัฐ ชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้หนีภัยการสู้รบ 14) กลุ่มที่รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง และ 15) กลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ โดยมีการกำหนดกรอบระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2561