"ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.9 เห็นว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันของประเทศไทยแพงกว่าความเป็นจริง ขณะที่ร้อยละ 27.5 เห็นว่าราคาพอๆ กับความเป็นจริง ที่เหลือร้อยละ 2.6 ไม่แน่ใจ"
"ความเห็นต่อธุรกิจพลังงานในประเทศไทยว่ามีรูปแบบเป็นแบบใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.9 เห็นว่าเป็นธุรกิจแบบผูกขาด ขณะร้อยละ 35.4 เห็นว่าเป็นแบบการแข่งขันเสรี และร้อยละ 9.7 ไม่แน่ใจ"
"ความเห็นต่อข้อคำถามที่ว่า ปตท.ได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐวิสาหกิจของประชาชนหรือไม่ นับจากมีการแปรรูปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.4 มองว่า ปตท.คำนึงถึงแต่ผู้ถือหุ้นและกำไร ขณะที่ร้อยละ 33.9 มองว่า ปตท.ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อประชาชน ที่เหลือร้อยละ 5.7 ไม่แน่ใจ"
สำหรับแนวคิดที่ห้ามไม่ให้ข้าราชการหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจและบริษัทด้านพลังงานเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 29.3 ไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเบนซินลดลง แต่ดีเซล LPG และ NGV จะแพงขึ้น รวมถึงราคาพลังงานอาจมีความผันผวนมากขึ้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.3 ไม่เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 35.9 เห็นด้วย
สำหรับอุปสรรคสำคัญที่สุดในการปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยคือ นักการเมือง (ร้อยละ 61.8) รองลงมาคือ ปตท. (ร้อยละ 42.8) และข้าราชการ ผู้มีอำนาจหน้าที่ (ร้อยละ 42.2)
ส่วนผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดหากมีการปฏิรูปพลังงานคือ ประชาชน (ร้อยละ 38.1) รองลงมาคือ ปตท. (ร้อยละ 16.8) นักการเมือง (ร้อยละ 12.9) และกลุ่มบริษัทเอกชน (ร้อยละ 11.9)
สุดท้ายเมื่อถามว่าหลังการปฏิรูปพลังงาน จะช่วยทำให้ราคาพลังงานโดยรวมเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 43.4 เห็นว่าราคาพลังงานจะถูกลง ขณะที่ร้อยละ 31.9 เห็นว่าราคาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และร้อยละ 16.9 เห็นว่าราคาจะแพงขึ้น
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง "คนไทยกับความเชื่อมั่นต่อการปฏิรูปพลังงาน" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,157 คน ช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.ที่ผ่านมา