“มาตรการที่ได้ดำเนินการในครั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขถือว่าเป็นมาตรการเสริมประสิทธิภาพของการเฝ้าระวังโรค ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขและตำรวจในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถเชิญตัวมาสอบถามหรือรายงานตัว เพื่อคงไว้ซึ่งความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้เดินทางเองและประชาชนส่วนรวม ผู้เดินทางรายนี้เป็นผู้มีอาการปกติ และร่างกายแข็งแรง ไม่ได้เป็นผู้สงสัยว่าติดเชื้ออีโบลา หรือเป็นผู้ป่วย แต่จะต้องได้รับการติดตามรายวันจนครบ 21 วัน เช่นเดียวกับผู้ที่เดินทางคนอื่นจากประเทศที่มีการระบาด"นพ.วชิระ กล่าว
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลานั้น ทางองค์การอนามัยโลกได้รายงานสถานการณ์การระบาดพบว่า การระบาดชะลอตัวใน 2 ประเทศคือไลบีเรียและกินี ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มประมาณ 100-200 ราย ส่วนเซียร์ราลีโอนยังน่าเป็นห่วง พบผู้ป่วยเพิ่มประมาณ 1,000 ราย ประเทศที่ต้องจับตาคือประเทศมาลี ที่เมืองบามาโค เนื่องจากมีการติดเชื้อภายในประเทศ มีผู้ป่วยรวม 7 ราย
ในส่วนของประเทศไทยได้คงมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง โดยติดตามผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ขณะนี้ได้ติดตามผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดแล้ว 3,137 คน และจากการติดตามพบว่าร้อยละ 76 อยู่ในกทม. ร้อยละ 7 อยู่ที่ภูเก็ต ร้อยละ 5 อยู่ที่ชลบุรี และร้อยละ 3 อยู่ที่จันทบุรี ที่เหลือกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด 8 คน สามารถติดตามได้จากสนามบินจนถึงโรงแรมที่พักได้ 7 คน ส่วนอีก 1 คนกำลังติดตามอยู่
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา มี 3 ส่วนคือ 1.ที่สนามบิน 2.ในชุมชน และ3.ที่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามติดตามผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้ได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์