สธ.คุมเข้มป้องกันเชื้อกาฬโรคหลังพบแพร่ระบาดในมาดากัสการ์

ข่าวทั่วไป Wednesday November 26, 2014 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เผยสั่งการให้กรมควบคุมโรคติดดามสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคกาฬโรคในมาดากัสการ์อย่างใกล้ชิด แม้ไทยมีความเสี่ยงต่ำ โดยได้กำจัดโรคนี้หมดไปและไม่พบผู้ป่วยเป็นเวลา 62 ปี พร้อมกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่มีด่านท่าเรือระหว่างประเทศคุมเข้มความสะอาด กำจัดหนูบนเรืออย่างเคร่งครัด แนะประชาชนรักษาความสะอาดบ้านเรือนกำจัดขยะให้ถูกวิธี ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่ของหนู

"แม้ว่าไทยมีความเสี่ยงต่ำที่กาฬโรคจะหวนกลับมาระบาดอีกก็ตาม ได้ให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีด่านติดต่อทางเรือระหว่างประเทศ เฝ้าระวังจุดเสี่ยงสำคัญคือเรือที่มาจากแหล่งระบาด ซึ่งอาจมีหนูมากับเรือเดินทางระหว่างประเทศ ขอให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตรวจตรา เข้มงวดเรื่องสุขาภิบาล กำจัดหนูบนเรือและที่ด่านท่าเรือระหว่างประเทศตามมาตรฐานกฎอนามัยระหว่างประเทศ ส่วนประชาชนขอให้ดูแลความสะอาดบ้านเรือน กำจัดขยะในบ้านให้ถูกวิธี และป้องกันหนูไม่ให้ไปทำรังหรือไปหาอาหารในบ้านเรือน ซึ่งจะเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด" นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าว

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้แจ้งข่าวการแพร่ระบาดของกาฬโรคในเมืองหลวงของประเทศมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 119 ราย เสียชีวิต 40 ราย

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคกาฬโรค (Plague) มีหมัดหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ หมัดหนูมักอาศัยอยู่ในสัตว์ฟันแทะป่า เช่น กระรอกดิน กระต่ายป่า และหนู หลังจากคนถูกหมัดที่มีเชื้อกัดประมาณ 1-7 วัน จะมีอาการป่วย คือ มีไข้หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ไม่มีเรี่ยวแรง เจ็บคอ ปวดหัว ต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่บริเวณถูกหมัดกัด ที่พบบ่อยที่สุดคือขาหนีบ เชื้ออาจจะแพร่กระจายไปอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย รวมถึงเยื่อหุ้มสมอง ปอดบวม ทำให้เกิดอาการช็อก เลือดไม่แข็งตัว และเสียชีวิตได้ ในอดีตกาฬโรคเป็นโรคร้ายแรง ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันโรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด หากตรวจพบวินิจฉัยได้เร็ว ขณะนี้พบโรคนี้บางพื้นที่ เช่นประเทศในแอฟริกาได้แก่ แองโกลา เคนยาบอตสวานา มาดากัสการ์ นามิเบีย แอฟริกาใต้ มาลาวี โมซัมบิก แทนซาเนีย ยูกันดา ซิมบับเว ซาอีร์ และลิเบีย ส่วนในเอเชียพบในประเทศจีน อินโดนีเซีย มองโกเลีย พม่า อินเดีย และเวียดนาม

ปัจจุบัน สธ.ได้ประกาศให้กาฬโรคเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานเพื่อการควบคุมป้องกันโรค เช่น ตรวจตรายานพาหนะ ผู้เดินทาง สิ่งของหรือสัตว์ที่มากับพาหนะ รวมทั้งควบคุมการกำจัดสิ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในพาหนะ เช่น การควบคุมหนูบนเรือ ท่าเรือ และในโรงเก็บสินค้าด้วยสิ่งก่อสร้างที่กันหนูได้ และมีมาตรการการตรวจคัดกรอง กักกัน และรักษาคนหรือสัตว์สงสัยว่าป่วยเป็นโรคติดต่ออันตราย เป็นต้น

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า มาตรการป้องกันกาฬโรคนั้น ขอให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์หนู ไม่เลี้ยงหรือไม่สัมผัสสัตว์ป่าหรือซากสัตว์กัดแทะต่างๆ ประชาชนที่เดินทางกลับจากการท่องเที่ยวในป่า หากมีไข้หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป 02-5906183 หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ