ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขครั้งนี้ ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดการประชุม และดร.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก จะกล่าวผ่านระบบวิดีโอ จากสำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มายังที่ประชุม ในหัวข้อ โรคอีโบลา ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และภาวะคุกคามต่อโลก เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่อที่ประชุม ประกอบการพิจารณาของประเทศในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ในการเตรียมความพร้อมของระบบเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร เพื่อสามารถใช้ประยุกต์รับมือภัยคุกคามจากโรคระบาดอื่นๆได้เช่นกัน รวมทั้งการพิจารณาให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบภัยจากการระบาดด้วย
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกล่าสุดจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 พบผู้ป่วย 17,145 ราย เสียชีวิต 6,070 ราย และประเมินว่าโรคนี้มีโอกาสแพร่ระบาดออกจากทวีปแอฟริกา จากการเดินทางระหว่างประเทศ ทุกประเทศจึงต้องร่วมมือกัน สนับสนุนการควบคุมโรค เพื่อยุติการระบาดในประเทศต้นทางโดยเร็วที่สุด และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้มแข็งระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในทุกประเทศ ในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เพื่อรับมือโรคอีโบลา รวมทั้งโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 14 ธันวาคม 2557 จะมีการประชุมของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่วิชาการอาวุโส ประมาณ 50 คน จากประเทศในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม ในฐานะประธานของเจ้าหน้าที่วิชาการอาวุโสของอาเซียนบวกสาม ประจำปี 2557 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และปลัดกระทรวงกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการและสังคมประเทศเกาหลีใต้ เป็นรองประธานร่วม เพื่อร่วมกันจัดทำร่างข้อตกลงเชิงนโยบายในการป้องกันโรคอีโบลาในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ที่จะนำเสนอเข้าสู่เวทีการประชุมของรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามในวันรุ่งขึ้น เพื่อประกาศเป็นข้อตกลงร่วมกันทั้ง 13 ประเทศ ขณะนี้ ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยังไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลา
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อม โดยเน้นการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด โดยจะติดตามอาการทุกรายทุกวัน จนพ้นระยะฟักตัวของเชื้ออีโบลาคือ 21 วัน การปฏิบัติงานในระยะที่ผ่านมาได้ผลดี ซึ่งต่อไปประเทศไทยจะติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งอย่างถาวร และพัฒนาระบบการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาความพร้อมของโรงพยาบาล ภาครัฐและเอกชน ทั้งด้านมาตรฐานการวินิจฉัย การดูแลรักษาผู้ป่วย และการควบคุมการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล