ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 15 แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๐ ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครฉบับประกาศ ณ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551
และให้กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ให้กำหนด ดังนี้ ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 5.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 7.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
ส่วนกรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตรานาทีละ 2.00 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้อัตรานาทีละ 1.50 บาท
พร้อมทั้งกำหนด อัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ดังนี้ กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารของผู้รับจ้าง ให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท
กรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยรถยนต์รับจ้างนั้นจอดรอคนโดยสารอยู่ในท่าอากาศยาน ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้กรมการขนส่งทางบกจัดเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบการให้บริการ โดยเฉพาะการร้องเรียนกรณีปฎิเสธรับผู้โดยสาร และมารยาทอื่นๆ ส่วนการตรวจสอบสภาพรถแท็กซี่นั้นกรมขนส่งฯ แจ้งว่าภายในสัปดาห์นี้จะดำเนินการได้ประมาณ 40-50% ของจำนวนรถที่มีทั้งหมด และสิ้นปีนี้จะตรวจสอบสภาพได้ประมาณ 70%