รมว.สธ.กล่าวว่า เนื่องจากยังไม่มีการรับรองมาตรฐาน ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างครอบคลุม ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งจัดทำร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับสเต็มเซลล์ โดยร่างฯ ฉบับนี้จะมีความครบถ้วน ทั้งด้านการบริการ การให้ความรู้ และการควบคุมมาตรฐานการรักษา เพื่อให้การรักษามีความถูกต้อง ปลอดภัย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการระดมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นเดือนเมษายน 2558 และทำประชาพิจารณ์ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและประกาศใช้เป็นกฎหมาย
"เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและความสนใจ มีความเป็นห่วงความปลอดภัยของคนไทย เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยอย่างครบถ้วน" นพ.รัชตะ กล่าว
สำหรับขั้นตอนการประกาศออกเป็นกฎหมายคาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากต้องผ่านหลายขั้นตอน ดังนั้นในระหว่างที่รอ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ปัญหา โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีใช้อยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ทั้งข้อบังคับของแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2552 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม กำหนดเงื่อนไขเพื่อเป็นการดำเนินการไม่ให้มีการกระทำผิด คุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชน ขณะเดียวกันให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอ ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำประกาศกระทรวงให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุด
ด้านนาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรอบในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสเต็มเซลล์ จะมีทั้งหมด 6 บท ประกอบด้วย 1.บททั่วไป 2.การตั้งคณะกรรมการ 3.การควบคุมดูแลทั้งในด้านการใช้ การวิจัย การยกเลิกใบอนุญาต 4.ความยินยอม ซึ่งจะรูปแบบหลักเกณฑ์การขอคำยินยอม สิทธิในการยกเลิกการให้ความยินยอม 5.บทกำหนดโทษ ซึ่งระบุถึงการใช้ตัวอ่อนเพื่อทำสำเนามนุษย์ การซื้อขายตัวอ่อน หรือเซลล์ต้นกำเนิด รวมทั้งการแยกสกัดเซลล์กำเนิดตัวอ่อนโดยไม่มีใบอนุญาต และ 6.บทอื่นๆ ประกอบด้วย บทเฉพาะกาลและแพทย์ทางเลือก
ขณะนี้คณะกรรมการยกร่างได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการทำการศึกษาทบทวน เปรียบเทียบกฎหมายที่มีใช้ในต่างประเทศแล้ว เช่น อังกฤษ สิงค์โปร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการยกร่างนำมาเสนอที่ประชุมพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการยกร่างดังกล่าวมีทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นประธาน และผู้แทนจากสำนักงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สภาเทคนิคการแพทย์ แพทยสภา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมปลูกถ่ายไขกระดูกแห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสเต็มเซลล์ โดยข้อมูลเบื้องต้นเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเซลล์ที่มีความสามารถในการเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ในร่างกาย จึงนำมาใช้ในการซ่อมแซมทดแทนเนื้อเยื่อและอวัยวะที่ถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพ เป็นการปลูกถ่ายเซลล์บำบัดแทนการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยมาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือเซลล์ที่ได้มาจากตัวอ่อนของมนุษย์หลังปฏิสนธิจนถึง 14 วัน และเซลล์ต้นกำเนิดที่ไม่ได้มาจากตัวอ่อน เช่น จากเลือดที่อยู่ในสายสะดือทารกแรกคลอดหรือได้จากเลือดหรือไขกระดูกของผู้ใหญ่