"ประจิน"ถกรถไฟไทย-จีนเส้นหนองคาย-มาบตาพุด-กทม.ฉลุย วางกรอบสร้าง 3.5 ปี

ข่าวทั่วไป Thursday January 22, 2015 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมคณะทำงานไทย-จีนในความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน(Standard gauge) 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม.ว่า ในการประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 11-13 ก.พ.ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนจะมีรายละเอียดรูปแบบการลงทุนเพิ่มเติม หลังจากนั้นในเดือนมี.ค.จะเป็นการจัดทีมสำรวจทางการของจีนมาทำการสำรวจร่วมกับฝ่ายไทย

ขั้นต้นบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอร์ปอเรชั่น(CRC) ของจีน และเจ้าหน้าที่ ร.ฟ.ท.จะร่วมลงพื้นที่สำรวจร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยฝ่ายไทยจะจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้น เช่น ผลการสำรวจที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 53-57 เป็นแนวทางประกอบในการสำรวจ และจะสำรวจเป็นทางการในเดือนมี.ค. จากนั้นจะเป็นการเตรียมเส้นทางและพื้นที่เพื่อก่อสร้างสถานีและศูนย์กระจายสินค้า

โดยช่วงที่ 1 กรุงเทพ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 2. แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. เริ่มก่อสร้างได้ไม่เกิน ต.ค.58 ซึ่งฝ่ายจีนเห็นว่าจะสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จภายใน 2.5 ปี ส่วน ช่วงที่ 3. แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม.และช่วงที่ 4. นครราชสีมา –หนองคาย ระยะทาง 355 กม. เริ่มก่อสร้างในธ.ค.58 อย่างช้าไม่เกินไตรมาสที่ 1 ปี 59 ใช้เวลาประมาณ 3 ปีหรืออย่างช้าไม่เกิน 3.5 ปีเนื่องจากเส้นทางผ่านภูเขา พื้นที่อุทยาน และบางช่วงมีชุมชนหนาแน่น

"ในข้อตกลงร่วมบางเรื่องอาจจะต้องนำกลับมาเข้าสู่ขั้นตอนของไทยเช่น เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบก่อน ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยเป้าหมายจะต้องเริ่มต้นก่อสร้างให้ได้ภายใน 6-7 เดือน ขณะนี้การดำเนินงานยังคงสอดคล้องกัน" รมว.คมนาคม กล่าว

รถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐานของไทยความเร็วระดับกลาง 160-180 กม./ชม.ที่ใช้เทคโนโลยีของจีนนั้น จะเป็นต้นแบบสำหรับประเทศในอาเซียน โดยลาวจะเป็นประเทศแรกที่ก่อสร้างตามมา ซึ่งจะทำให้เส้นทางแรกเชื่อมต่อจากคุณหมิงของจีน ผ่านเวียงจันทน์ ของลาว มาเชื่อมกับไทยที่หนองคาย-โคราช-แก่งคอย-กรุงเทพฯ ในขณะที่ภายในประเทศไทยจะเน้นการพัฒนาปรับปรุงรางขนาด 1 เมตรที่มีอยู่เดิมให้มีความมั่นคงแข็งแรง และยกระดับเทคโนโลยีจากรถดีเซลเป็นรถไฟฟ้า โดยเริ่มที่สายใต้เพื่อเชื่อมไปยังมาเลเซียที่มีรางขนาด 1 เมตรที่ใช้รถไฟฟ้าแล้ว พร้อมกันนี้ไทยจะมีการวางแผนในการพัฒนารางขนาด 1 เมตร ในระยะ 5-10 ปี ต่อไปไว้ด้วย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนในโครงการการก่อสร้างรถไฟทางคู่ กรุงเทพ-แก่งคอย-โคราช-หนองคาย กล่าวว่า เบื้องต้นจีนนำเสนอการลงทุนด้านการเงินไว้ 3 รูปแบบ คือ 1.กู้เงินจากจีนลงทุน โดยมีอัตราดอกเบี้ยและระยะการผ่อนปรนมากพิเศษ 2.รัฐและเอกชนร่วมลงทุนหรือ PPP 3.การลงทุนร่วมกันรัฐบาลไทย-จีน ซึ่งจะเลือกรูปแบบใดนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นไปได้ของโครงการ และอัตราผลตอบแทน โดยจีนนั้นยืนยันถึงประสบการณ์ในการเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาเส้นทางรถไฟในประเทศต่างๆ ในทั้ง 3 รูปแบบ

"กรณีกู้เงินแบบดอกเบี้ยต่ำและผ่อนปรนมากๆ นั้นจะเป็นการลงทุนแบบที่รัฐบาลรับผิดชอบ 100% ทั้งการก่อสร้างและการเดินรถ ซึ่งอยู่ที่รัฐบาลไทยตัดสินใจว่าต้องการกู้เงินเท่าไร และเงื่อนไขทางจีนเป็นอย่างไร โดยจีนพร้อมเต็มที่เพราะถือเป็นความร่วมมือระดับรัฐบาล โดยให้กู้ผ่านธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออกแห่งประเทศจีน แต่หากโครงการได้ผลตอบแทนคืนเร็วอาจจะใช้รูปแบบ PPP แต่กรณีได้ผลตอบแทนในช่วงแรกต่ำ เพราะปริมาณผู้โดยสารและสินค้าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จะใช้รูปแบบรัฐบาลร่วมมือตั้งบริษัทลงทุนร่วมกัน เมื่อผลตอบแทนเริ่มดีขึ้น รัฐบาลไทยอาจจะซื้อโครงการกลับมาได้ ซึ่งคณะอนุด้านการเงินฯ จะพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนารถไฟเส้นทางนี้ โดยจะสรุปเบื้องต้นในการประชุมที่กรุงปักกิ่งวันที่ 11-13 ก.พ."นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่ารูปแบบการกู้เงินจะดำเนินงานได้รวดเร็วมากที่สุด แต่หากจะใช้ PPP จะต้องหาข้อตกลงกันว่า รัฐจะลงทุนส่วนไหน เอกชนลงทุนส่วนไหน ซึ่งไทยใช้รูปแบบ PPP ในโครงการรถไฟฟ้า โดยรัฐรับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธา ส่วนเอกชนเข้ามาลงทุนเดินรถโดยพิจารณาผลตอบแทนในระดับหนึ่งที่เอกชนจะเข้ามาดำเนินการได้ ซึ่งหากจีนเห็นด้วย ไทยจะต้องปฎิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ต่อไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ