กทม.ตั้งศูนย์ฯเฉพาะกิจแก้ปัญหาภัยแล้งฝั่งธนบุรีที่คาดปีนี้ส่อรุนแรง-ยาวนาน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 28, 2015 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจส่วนหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้งกรุงเทพฯ ตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) เพื่อเตรียมความพร้อมและให้ความช่วยเหลือประชาชนฝั่งธนบุรี 15 เขต ได้แก่ คลองสาน จอมทอง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ทุ่งครุ ธนบุรี บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางขุนเทียน บางแค บางบอน บางพลัด ภาษีเจริญ ราษฎร์บูรณะ และหนองแขม ซึ่งประสบปัญหาอันเนื่องมาจากภัยแล้ง ประกอบด้วย การขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร ไฟไหม้หญ้า ถนนทรุด และน้ำเค็ม โดยจัดเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับเขต พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ รถบรรทุกน้ำ แท็งก์น้ำ เครื่องสูบน้ำ รถดับเพลิง รวมถึงเครื่องมือและเครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่อเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาตามที่ได้รับการร้องขอ
"ปัญหาภัยแล้งในปีนี้อาจมีความรุนแรงและยาวนานกว่าปกติ กทม.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจส่วนหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้งฝั่งตะวันตกดูแล 15 เขตฝั่งธนบุรี ซึ่งประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ไฟไหม้หญ้า และปัญหาน้ำเค็มจากน้ำทะเลหนุนสูง ดังนั้นศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจส่วนหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั้งในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน เช่น ในพื้นที่ตะวันออกมักประสบปัญหาไฟไหม้หญ้ารุนแรง ขณะที่ฝั่งตะวันออกหรือธนบุรีมักประสบปัญหาน้ำเค็มในช่วงภัยแล้ง"ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

พร้อมกันนี้ กทม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบประสานกรมชลประทานเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา อีกทั้งดำเนินการต่อเนื่องในการวางท่อจ่ายน้ำประปาเร่งด่วนในกรุงเทพมหา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่ 4 โดยการประปานครหลวงจะวางท่อจ่ายน้ำประปาตามเส้นทางในเขตพื้นที่ 14 เขต รวม 331 เส้นทาง ระยะทาง 203 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลน้ำอุปโภคบริโภคได้อีกทางหนึ่ง ดึงน้ำดีไล่น้ำเค็ม และใช้น้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรม

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงประตูระบายน้ำคลองราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในประตูระบายน้ำฝั่งธนบุรีซึ่งทำหน้าที่ปิด-เปิดรับน้ำซึ่งไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำจะตรวจสอบเวลาน้ำทะเลขึ้นลงจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าความเค็มของน้ำ รวมถึงตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำก่อนปล่อยน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ได้ตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำบริเวณนอกประตูระบายน้ำคลองราษฎร์บูรณะ วัดได้ 5.5 กรัมต่อลิตร ขณะที่ในประตูระบายน้ำวัดได้ 2.6 กรัมต่อลิตร ซึ่งค่าความเค็มสูงกว่าเกณฑ์ที่กทม.กำหนด 1.2 ลิตรต่อกรัม ไม่เหมาะกับการนำน้ำไปรดต้นไม้ ผัก ผลไม้ ไม้ดอกและไม้ประดับเนื่องจากจะสร้างความเสียหายต่อพืชได้ ขณะที่ค่าความเค็มของน้ำตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกาต้องไม่เกิน 1.5 กรัมต่อลิตร

"ปัญหาน้ำเค็มในพื้นที่ฝั่งธนบุรี เนื่องจากมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานที่กำหนด ล่าสุดค่าความเค็มที่ตรวจวัดในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระประแดงวัดได้ 17.3 ในขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนบริเวณสะพานพระราม 7 วัดได้ 0.9 กรัมต่อลิตร ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้แก้ไขปัญหาน้ำเค็มโดยการเปิดปิดประตูระบายน้ำ วัดค่าความเค็มของน้ำก่อนปล่อยเข้าสู่พื้นที่เกษตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อดึงน้ำจืดจากคลองและแม่น้ำสายต่างๆ ในการผลักดันน้ำเค็ม และหมุนเวียนน้ำในคลองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้สำนักงานเขตพื้นที่ได้ประสานรถบรรทุกน้ำเพื่อบรรทุกน้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครให้เกษตรกรเพื่อใช้ในการเกษตรบรรเทาความเดือดร้อน อีกทั้งนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ภายในสวนสาธารณะและบริเวณเกาะกลางถนนอีก เกษตรกรสวนผักผลไม้และไม้ประดับฝั่งธนฯ ได้รับผลกระทบ"ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ