"ผลสำรวจพัฒนาการเด็กอายุ 0-5 ปี ในปี 2557 ของกรมอนามัยพบว่ามีพัฒนาการสมวัยเพียงร้อยละ 73 พัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 27 หรือมีประมาณ 1 ล้านกว่าคน เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการชี้ให้เห็นชัดว่าเด็กวัยนี้มีความสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการด้านสมอง สายตา การควบคุมอารมณ์ ทักษะด้านภาษาและสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพดี" นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ.กล่าว
ปัญหาเด็กมีพัฒนาการไม่สมวัยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการเลี้ยงดู พ่อแม่ขาดทักษะการเลี้ยงดู ผู้เลี้ยงดูหลักมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ฝากให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ซึ่งมักปล่อยให้เด็กดูนิทานจากทีวีมากกว่าการฟังการเล่าสดจากพ่อแม่ การจัดบริการของโรงพยาบาลยังไม่เพียงพอ โดยมีคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็กล่าช้ายังไม่เพียงพอในโรงพยาบาลชุมชนมีเพียงร้อยละ 67 เท่านั้น พี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กขาดความรู้ ทักษะที่จำเป็น อีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสุขภาพที่มีผลต่อพัฒนาการเด็ก เช่น ขาดออกซิเจนเมื่อแรกเกิดพบร้อยละ 3, น้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 8, ติดเชื้อเอชไอวีจากแม่ ร้อยละ 6 รวมทั้งอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนยังน้อยเพียงร้อยละ 55 จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่กล่าวมาอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ สธ.จะพัฒนาบริการทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ 1.สร้างพ่อแม่คุณภาพเข้ารับบริการตรวจสุขภาพก่อนและหลังมีบุตร เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ตามมาตรฐานโรงเรียนพ่อแม่ 2.ให้บริการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ สร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ของหญิงตั้งครรภ์และสามี หญิงหลังคลอด และเด็กปฐมวัย 3.สร้างเด็กปลอดโรคพันธุกรรมและโรคติดเชื้อ คือโรคธาลัสซีเมีย โรคเอดส์ และโรคขาดสารไอโอดีนหรือโรคเอ๋อ โดยตรวจเลือดขณะแม่ตั้งครรภ์ ให้แม่กินยาเสริมไอโอดีนและวิตามินเสริมธาตุเหล็กตามสิทธิประโยชน์ 4.สร้างภูมิต้านทานทางสังคมแก่เด็ก โดยผ่านการเลี้ยงดูของพ่อ แม่ ด้วยความรักและความผูกพัน ได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและอาหารตามวัย
5.สร้างเด็กฉลาดทางปัญญาและอารมณ์ ด้วยการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสมจากพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กหลัก ผ่านกระบวนการกิน กอด เล่น เล่า 6.เด็กทุกคนได้รับการเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการ หากพัฒนาการล่าช้าได้รับการแก้ไข 7.เด็กได้รับการฝึกทักษะชีวิต ผ่านการจัดกิจกรรมในคลินิกเด็กดี และ ศูนย์เด็กเล็ก การฝึกทักษะกิจวัตรประจำวัน การเล่นบทบาทสมมติ การเล่านิทาน ร้องเพลงและดนตรี และวาดรูป 8.สตรีและเด็กได้รับบริการคุณภาพ ฝากครรภ์คุณภาพ ห้องคลอดคุณภาพ คลินิกเด็กดีคุณภาพ และศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ และ 9.ชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างเด็กไทยแข็งแรง พัฒนาการดี มีคุณธรรม ด้วยการจัดทำแผนพัฒนาตำบลที่มีประมาณ 6,000แห่ง ให้เป็นตำบลพัฒนาการเด็กดีเริ่มที่นมแม่
"จะเน้นการพัฒนาระบบริการที่โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ 10,527 แห่ง การส่งเสริมครอบครัวกว่า 24 ล้านครัวเรือน สร้างครอบครัวต้นแบบเด็กพัฒนาการดี เริ่มที่นมแม่ และพัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มี 20,500 แห่งให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ถือว่าเป็นการปฏิรูประบบอนามัยแม่และเด็กครั้งใหญ่ของประเทศไทย" นพ.รัชตะ กล่าว