นิด้าโพลเผยคนไม่เชื่อคำพูดสหรัฐฯ ว่าไม่เข้าข้างการเมืองฝ่ายใดในไทย

ข่าวทั่วไป Sunday February 1, 2015 09:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง "การให้ความสำคัญของประชาชนต่อข่าวการเดินทางเยือนไทยของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 22.56 ระบุว่า ค่อนข้างให้ความสำคัญ รองลงมาร้อยละ 21.52 ระบุว่า ไม่ให้ความสำคัญเลย โดยร้อยละ 20.40 ระบุว่า ไม่ค่อยให้ความสำคัญ และร้อยละ 13.92 ระบุว่า ให้ความสำคัญอย่างมาก

ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่าค่อนข้างให้ความสำคัญ – ให้ความสำคัญอย่างมาก ให้เหตุผลเพราะว่าเป็นการมาเยือนของประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ทั้งยังต้องการทราบถึงข่าวคราวความเคลื่อนไหวการมาเยือนของ นายแดเนียล รัสเซล และข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในขณะนี้ด้วย โดยมองว่าการเมืองไทยน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงถึงสถานการณ์ทางการเมือง รวมไปถึงการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีบทบาทในเศรษฐกิจของไทย

ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยให้ความสำคัญ – ไม่ให้ความสำคัญเลย ให้เหตุผลเพราะว่า ถือเป็นปกติของผู้นำระดับสูงของประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในการเยือนนานาประเทศอยู่แล้ว และส่วนหนึ่งไม่ได้สนใจ หรือติดตามข่าวการเมืองเท่าใดนัก

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อคำกล่าวของผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า "สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.08 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ขณะที่ร้อยละ 17.52 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ โดยมีเพียงร้อยละ 8.48 ที่ระบุว่าเชื่ออย่างมาก

โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ – เชื่ออย่างมาก ให้เหตุผลเพราะว่า สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยมาอย่างยาวนาน และมองว่าเป็นเรื่องของภายในประเทศ จึงน่าจะมีความเป็นกลางและไม่เข้ามาแทรกแซง หรือเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาของไทย

และในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ – ไม่เชื่อเลย ให้เหตุผลเพราะว่า ไม่มั่นใจในความจริงใจและจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเดินทางมาเยือนของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ซึ่งมองว่าอาจมีผลประโยชน์แอบแฝง หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มนักการเมือง เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา โดยจะเห็นได้จากการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองระหว่างประเทศในบางประเทศ

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 27 มกราคม 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ