"อีก 15 วันถ้าไม่มีอะไรคืบหน้าจะไปสอบถามผู้ว่าฯ เพราะการดำเนินการของผู้อำนวยการเขตปทุมวันน่าจะปฏิบัติไม่ตรงตามคำพิพากษาของศาลปกครอง เปิดช่องให้มีการประวิงการบังคับคดีได้" นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะผู้รับมอบอำนาจฯ กล่าว
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.57 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และหรือผู้ว่าฯ กทม. สั่งการบริษัท ลาภประทาน และบริษัท ทับทิมทร ระงับการก่อสร้างอาคารและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในซอยร่วมฤดีและซอยร่วมฤดี 2 ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
นายเฉลิมพงษ์ กล่าวว่า การที่สำนักงานเขตปทุมวันออกคำสั่งเจ้าพนักงาน 3 คำสั่งไปยังทั้งสองบริษัท คือ 1.ให้เจ้าของอาคารระงับการก่อสร้างดัดแปลงอาคาร 2.ให้เจ้าของอาคารแก้ไขปรับปรุงอาคารให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และ 3.ห้ามมิให้บุคคลใดๆ เข้าใช้อาคารดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เป็นการเปิดช่องให้มีการประวิงการบังคับคดีได้ เพราะคำสั่งที่ 2.ให้เจ้าของอาคารแก้ไขปรับปรุงอาคารให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ นั้นอยู่นอกเหนือจากคำพิพากษา เป็นการเปิดช่องให้เจ้าของอาคารนำเรื่องไปยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ได้อีก ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 100 วัน
"ประเด็นอาคารก่อสร้างผิดกฎหมายคงได้ข้อยุติแล้วตามคำพิพากษา...เราคงไม่เห็นการบังคับคดีในเร็วๆนี้ คงอีกนาน ละครเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ ยาวเป็นมหากาพย์ กรณีนี้อาจยืดเยื้อซ้ำรอยเหมือนคดีห้างแก้วฟ้า" นายเฉลิมพงษ์ กล่าว
นายเฉลิมพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการบังคับคดี เพราะยังมีการดำเนินการอื่นๆ ที่น่าสงสัย เช่น สำนักงานเขตปทุมวันแจ้งเจ้าของที่ดินในซอยร่วมฤดีเพื่อขอรังวัดที่ดินใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยมีการรังวัดที่ดินไปแล้วสองครั้ง โดยคู่ความทุกฝ่าย คือ ผู้ฟ้อง ผู้ถูกฟ้อง และผู้ร้องสอด ได้ลงชื่อรับรองไว้แล้วว่าความกว้างของซอยไม่ถึง 10 เมตร
"ไม่เข้าใจว่าการรังวัดที่ดินใหม่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามคำพิพากษาอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้คู่ความทั้งสามฝ่ายได้ลงชื่อยอมรับว่าซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว" นายเฉลิมพงษ์ กล่าว