จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของกรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2558 พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 4,041 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มที่ป่วยมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 10-14 ปี(ร้อยละ 11.75) รองลงมา คือ อายุ 25-34 ปี และอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พระนครศรีอยุธยา และพะเยา
สำหรับผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการมักเริ่มด้วยการเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5–7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก อาจทำให้เสียชีวิตได้สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ จะรักษาตามอาการ ถ้ามีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล นอนหลับพักผ่อน ให้ดื่มน้ำมากๆ และสวมหน้ากากป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นในกรณีที่ต้องไปยังที่สาธารณะ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรงให้พบแพทย์ทันที
ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้มีโรคอ้วน หากมีอาการสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากการได้ยาต้านไวรัสจะทำให้อาการป่วยหายได้เร็วและไม่รุนแรง ในกรณีที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ในสถานที่ที่คนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน สำนักงานต่างๆ แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดอยู่บ้าน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และให้ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ อย่างเช่น ลูกบิดประตู ราวบันใด โต๊ะอาหาร ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยา ทำความสะอาดทั่วไป และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง เช่น การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น และติดตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ดูแลและคลุกคลีกับผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากป้องกันโรค หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสตัวหรือข้าวของเครื่องใช้ผู้ป่วย ดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง หลังจากดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด