นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติว่าด้วยค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) โดย อปพร.ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งให้ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนภาครัฐ
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือบริหารจัดการสาธารณภัยระหว่างประเทศและในภูมิภาคอาเซียน องค์การสหประชาชาติได้กำหนดจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (The 3rd World Conference in Disaster Risk Reduction:3WCDRR) ระหว่างวันที่ 14-18 มี.ค.58 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้แทนประเทศจากทุกภูมิภาคได้ร่วมกันพัฒนากรอบแนวทางการขับเคลื่อนการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าที่ประชุมฯ จะประกาศรับรองกรอบการดำเนินการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติหลัง พ.ศ.2558 เพื่อผลักดันกลไกการป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติผ่านภาคเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เน้นหนักดำเนินการในกลุ่มที่มีความล่อแหลม เปราะบาง ควบคู่กับการเสริมสร้างให้ทุกประเทศพร้อมรับและฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะรองประธาน กปภ.ช. กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างระเบียบ กปภ.ช.เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของอาสาสมัคร พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุม ตรวจสอบ เบิกจ่ายค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามที่กฎหมายกำหนดเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมฯ ให้ความเห็นชอบ รวมถึงนำร่างกรอบการดำเนินการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติหลัง พ.ศ.2558 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดการภัยพิบัติของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในฐานะเลขานุการ กปภ.ช. กล่าว ว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้นำข้อเสนอแนะจากที่ประชุมฯ ไปเป็นแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศให้มีความเชื่อมโยงกันในทุกระดับและครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยมีการจัดการสาธารณภัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล และคนไทยมีความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน