ศาลปกครองสูงสุดสั่ง กฟผ.วางมาตรการป้องกัน-แก้ไขผลกระทบเหมืองแม่เมาะ

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2015 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 5 ข้อ ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่มีคำพิพากษา

สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 5 ข้อ ได้แก่ 1.ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศมีความยาว ๘๐๐ เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ 2.ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร 3.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7(กฟผ.) นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

4.ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland และ 5.ให้ทำการขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

ส่วนกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม(Environmental Audit) นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ได้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม(Environmental Audit) เสนอต่อ สผ.แล้ว จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดำเนินการตามมาตรการข้อนี้ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3(อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 138 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 โดยเคร่งครัด

"ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดำเนินการตามคำพิพากษา ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น" ศาลปกครองเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีดักงล่าวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

คดีนี้ นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม 318 คน ได้ยื่นฟ้อง รมว.อุตสาหกรรม กับพวกรวม 11 คน ในคดีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

สาระสำคัญคำฟ้อง 16 สำนวนของผู้ฟ้องคดีทั้ง 318 คนสรุปได้ว่า กฟผ.ละเลยมิได้ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตรหลายประการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3(อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ก่อให้เกิดมลพิษและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายต่อชีวิต สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2(กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4(อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ (กรมควบคุมมลพิษ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ (อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ) ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการควบคุมมลพิษรวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 11 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ยุติหรือระงับการก่อเหตุรำคาญ

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 สำนวนมีคำขอให้ 1.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 11 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย 2.ให้เพิกถอนประทานบัตรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 3.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ถึง 11 แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 หยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 เรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 และ 4.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมด้วยดอกเบี้ย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ