สำหรับส่วนแรกคือขยะมูลฝอยขั้นวิกฤต 6 จังหวัดนั้น ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการกำจัดขยะอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เช่น การขนย้ายขยะประมาณ 3 แสนกว่าตันไปกำจัดที่โรงปูนทีพีไอ จ.สระบุรี ซึ่งเราพยายามส่งเสริมให้เอกชนได้มีบทบาทในการดำเนินการในเรื่องนี้
ส่วนขยะมูลฝอยในจังหวัดอื่นๆที่ยังไม่มีปัญหาถึงขั้นวิกฤตนั้น มีแนวทางในการดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ 1.การฝังกลบชั่วคราวให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่เป็นมลพิษ ไม่ทำให้เกิดไฟไหม้บ่อขยะเหมือนที่ผ่านมา แต่ก็พร้อมจะนำกลับขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในภายหลัง 2.การกำจัดอย่างถูกต้อง มีหลายแนวทางเช่น การฝังกลบอย่างถาวรถูกต้องตามสุขลักษณะ มีมาตรฐาน การส่งไปเผายังพื้นที่ที่มีมาตรฐานเช่นโรงปูน การทำเชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ 3.การร่วมมือกับเอกชนทำ RDF หรือ ขยะอัดแท่งที่พร้อมจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ มีการจัดลำดับจังหวัดที่มีขยะสะสมตกค้างตั้งแต่ 1 ล้านตันขึ้นไปมี 5 จังหวัด, จำนวนขยะ 5 แสนตัน-1 ล้านตัน มี 7 จังหวัด และตั้งแต่ 1-5 แสนตัน มี 25 จังหวัด ส่วนที่ไม่เกิน 1 แสนตันมี 10 จังหวัด, ปริมาณ 100 ตัน-5 หมื่นตันมี 25 จังหวัด และจังหวัดที่มีขยะสะสมน้อยไม่เกิน 100 ตันมี 5 จังหวัด
นอกจากนี้ ในโรดแมพมีการกำหนดเป้าหมายในการกำจัดขยะได้ 100% ภายใน 3 เดือน มี 1 จังหวัด คือ จังหวัดระนอง ส่วนที่วางเป้าหมายจะกำจัดได้ทั้ง 100% ภายใน 6 เดือนมีจำนวน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี อำนาจเจริญ ชุมพร, กำจัดได้ 100% ภายใน 9 เดือนมี 16 จังหวัด, กำจัดได้ 100% ภายใน 1 ปี มี 48 จังหวัด และ กำจัดได้ 100% ภายใน 2 ปีมี 4 จังหวัด
ด้านโรดแมพการจัดการขยะมูลฝอยใหม่ มี 3 ขั้นตอน คือ 1.การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง 2.จัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวมไว้ที่ใดที่หนึ่งก่อนจะนำไปคัดแยกหรือนำไปป้อนโรงงานไฟฟ้า 3.กำจัดด้วยเทคโนโลยีแบบผสมผสาน