ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามนโยบายและข้อสั่งการของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยได้สั่งการให้ทุกจังหวัดสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก ทั้งเขตชุมชนและพื้นที่การเกษตร ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ภาชนะรองรับน้ำ จุดแจกจ่ายน้ำ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนและวางแนวทางบริหารจัดการน้ำและแจกจ่ายน้ำให้เป็นระบบ เน้นการใช้น้ำที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมให้หน่วยในสังกัดกระทรวงมหาดไทยบูรณาการกำลังคนและทรัพยากรประสานการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการแจกจ่ายน้ำ การให้บริการน้ำประปา รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางระบบเก็บกักน้ำ ระบบน้ำบาดาล เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง
นอกจากนี้ ให้เร่งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง แนวทางการแก้ไขปัญหา มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล ผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการจัดสรรน้ำ ซึ่งจะทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับรักษาระบบนิเวศน์และผลิตน้ำประปา รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอื่น ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล และให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำน้อยที่สุด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 10 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร บุรีรัมย์ ลพบุรี มหาสารคาม สุโขทัย นครสวรรค์ ขอนแก่น และชัยนาท รวม 37 อำเภอ 237 ตำบล 2,445 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 3.26 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ