"จากผลการเก็บข้อมูลจำนวนประชากรสัตว์น้ำในช่วงหลังฤดูกาลปิดอ่าวฯ เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่ามีความชุกชุมของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปลาทูมีความชุกชุมเพิ่มขึ้น ก่อนปิดอ่าว 3.3 เท่า และมีผลผลิตในภาพรวมของปี 2557 ตลอด 9 เดือน ที่มีปริมาณการจับอยู่ที่ 92,000 ตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณการจับในช่วงเวลาที่เท่ากันของปี 2553 – 2555 จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวนี้มีส่วนช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้มีใช้อย่างยั่งยืน" นายปีติพงศ์ กล่าว
สำหรับเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 24 มกราคม 2550 อาทิ (1) เครื่องมืออวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกล ยกเว้นเครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวที่ความยาวเรือไม่เกิน 16 เมตร ให้ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืน (2) เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมงด้วยวิธีล้อมติดปลาทูหรือด้วยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน (3) เครื่องมืออวนติดตาทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง ยกเว้น เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่วางเครื่องกลางลำไม่มีเก๋ง (หลังคา) ขนาดความยาวเรือไม่เกิน 14 เมตร หรือการใช้เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์เพลาใบจักรยาว เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลและเครื่องมือกว้าน ช่วยในการทำการประมงโดยใช้อวนที่มีขนาดความลึกอวนไม่เกิน 70 ช่องตาอวน ความยาวอวนตั้งแต่ 4,000 เมตร ลงมาในขณะทำการประมงแต่ละครั้ง ทำการประมงในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15 เมษายน ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี และ (4) เครื่องมืออวนล้อมจับทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีชาวประมงรายใดฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในพื้นที่ที่ได้ประกาศปิดอ่าวฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ห้าพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ด้านนายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯ ขึ้นมา แบ่งตามภารกิจเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงและประชาชนเข้าใจถึงผลดีของการปิดอ่าวฯ 2. กลุ่มควบคุมและปราบปราม รับผิดชอบการควบคุมตรวจปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมาย 3. กลุ่มติดตามผลการดำเนินคดี รับผิดชอบในการติดตามผลการดำเนินคดีในการจับกลุ่มผู้กระทำผิด และ 4. กลุ่มประเมินผลทางวิชาการ ทำหน้าที่สำรวจ รวบรวมข้อมูล ศึกษาและประเมินสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มได้ปฏิบัติงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และเพื่อให้กลุ่มชาวประมงและชุมชนชาวประมงในท้องถิ่นเกิดความรู้ความเข้าใจในมาตรการปิดอ่าวฯ และตระหนักถึงความสำคัญต่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ
"มาตรการปิดอ่าว ฝั่งทะเลอ่าวไทย ในปี 2558 นี้ เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดยนำเรือจำนวนทั้งหมด 36 ลำ ประกอบด้วย กรมประมง : เรือตรวจประมงทะเล จำนวน 17 ลำ เรือจุฬาภรณ์และเรือสำรวจประมง 1 จำนวน 2 ลำ / กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 8 ลำ / กองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคที่ 1 และทัพเรือภาคที่ 2 จำนวน 2 ลำ / กองบังคับการตำรวจน้ำ จำนวน 6 ลำ และกรมเจ้าท่า จำนวน 1 ลำ ออกตรวจลาดตระเวนตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมายทั่วทุกพื้นที่ปิดอ่าว นอกจากนี้กรมฝนหลวงและ การบินเกษตรยังได้สนับสนุนเครื่องบินร่วมลาดตระเวนด้วย และยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ ประมงอาสา ฅนเฝ้าทะเล ยุวประมง ฯลฯ ในการช่วยเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นผลพวงของความสำเร็จจากการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนัก รักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน" อธิบดีกรมประมง กล่าว