ทั้งนี้ จากนี้ไปกทม.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันเพื่อสร้างความชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรับผิดชอบด้านต่างๆ ที่ยังมีความคลุมเครือ เช่น กรณีนี้กฎหมายหลักให้อำนาจกรมเจ้าท่าเป็นผู้มีสิทธิหลักในการดูแลโป๊ะท่าเทียบเรือแม่น้ำเจ้าพระยา แต่กรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้กทม.เป็นผู้ดูแลและพัฒนาท่าเทียบเรือ ซึ่งกทม.ยินดีรับและพร้อมปฏิบัติเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน
"กฎหมายต้องชัดเจนและมีข้อสรุปว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งความรับผิดชอบหมายถึงรับผิดชอบครบวงจรทั้งการดูแลพัฒนาท่าเทียบเรือทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้อยู่ในสภาพใช้การได้และสะดวก รวมถึงการให้บริการ ไม่ใช่รับผิดชอบครึ่งๆ กลางๆ หรือรับผิดชอบเพราะการรับมอบภารกิจจากผู้อื่น ซึ่งหากกฎหมายระบุให้กทม.เป็นผู้ดูแลทั้งหมดก็ยินดีรับเพราะถือเป็นการให้บริการประชาชนที่ใช้บริการโดยสารทางเรือหลายหมื่นคนต่อวันให้ได้รับความสะดวก แต่หากกรมเจ้าท่าจะรับดูแลก็ไม่ว่าอะไร แต่อย่าแบ่งแค่ท่าเทียบเรือเป็นของกรมเจ้าท่าแต่ได้มอบหมายให้กทม.เป็นผู้ดูแล บำรุงรักษา และพัฒนา ถ้ามอบให้กทม.ดูแลต้องให้ดูแลทั้งหมดและต้องชัดเจนในกฎหมาย และการที่กทม.จะดำเนินการใดๆ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า"ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ดังนั้น กทม.และกรมเจ้าท่าจำเป็นต้องพูดคุยและที่สุดรัฐบาลต้องเป็นผู้ตัดสิน เพราะต้องเปลี่ยนกฎหมายครั้งใหญ่ ซึ่งแม้ว่าจะให้ใครเป็นผู้ดูแลกทม.ยังยินดีให้การสนับสนุนความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกบริเวณโป๊ะท่าเทียบเรือ เช่น วันลอยกระทง ก็ยังพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเช่นเดิม