"กรมควบคุมโรคได้เริ่มให้บริการวัคซีนเอชพีวีแก่นักเรียนหญิง ชั้น ป.5 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี 57พบว่า ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและครู ให้ความยอมรับวัคซีนป้องกันเอชพีวีเป็นอย่างดี ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 90 อีกทั้งยังไม่มีรายงานอาการภายหลังวัคซีนที่รุนแรง นอกจากนี้ ยังไม่พบว่าการให้วัคซีนดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่อีกด้วย"นพ.โสภณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งรัดจัดสรรงบประมาณและต่อรองราคาเพื่อให้เด็กไทยมีโอกาสได้รับวัคซีนป้องกันเอชพีวี เพื่อลดปัญหามะเร็งปากมดลูกในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกได้คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากถึงปีละประมาณ 5,000 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 10,000 ราย
ส่วนวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดนั้น ประเทศไทยมีพันธะสัญญาร่วมกับนานาประเทศในการร่วมกันกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลก และแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่พบผู้ป่วยโปลิโอในประเทศไทยมานานกว่า 17 ปีแล้ว การนำวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดมาใช้ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยจะก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการกวาดล้างโปลิโอร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยปลอดภัยจากเชื้อโปลิโอที่อาจนำเข้ามาจากประเทศที่ยังมีการระบาด
"คณะอนุกรรมการฯ มีข้อแนะนำว่าควรให้บริการวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด จำนวนสองเข็ม เมื่อเด็กอายุ 2 และ 4 เดือน แล้วใช้วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานต่อจนครบ โดยควรเริ่มให้บริการดังกล่าวภายใน พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินการกำจัดกวาดล้างโรคโปลิโอในระดับนานาชาติ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก"นพ.โสภณ กล่าว