ศาลปกครองสั่งกฟผ.จ่ายสินไหมพร้อมดบ.คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพิ่มเติม

ข่าวทั่วไป Wednesday February 25, 2015 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับชาวแม่เมาะที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเติม
"ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีบางรายที่ศาลปกครองปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่ายื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามจำนวนที่ตนมีสิทธิได้รับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยวันนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ นายคำ อินคำปาหรืออินจำปา กับพวกรวม 131 คน ยื่นฟ้อง กฟผ.กรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยคำฟ้องทั้ง 19 สำนวน สรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ละเลยไม่ควบคุมบำบัดฝุ่นหิน ฝุ่นละอองและ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งมีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในท้องที่อำเภอแม่เมาะ เจ็บป่วยเป็นโรคนิวโมโคนิโอซิส(โรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน) โรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สัตว์เลี้ยงและพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้อง ค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ ค่าทดแทนการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกาย สุขภาพ และอนามัย ความสูญเสียทางด้านจิตใจ ความสูญเสียโอกาส ที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติจนกว่าจะเสียชีวิต ค่าไร้ประโยชน์ในการใช้ที่ดิน ที่พักอาศัยในการทำมาหากินได้โดยปกติสุขเป็นเวลา 20 ปี ต่อไปในอนาคต ค่าเสียหายของพืชไร่ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหลังจากวันฟ้องจนถึงอายุ 80 ปี ซึ่งเป็นค่าเสียหายในอนาคต และมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุดการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินลิกไนต์จนกว่าจะมีวิธีการป้องกันมลพิษ และให้ฟื้นฟูคุณภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในท้องที่อำเภอแม่เมาะให้กลับคืนสภาพเดิม

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมกำจัดฝุ่นละออง และผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวนไม่ได้เจ็บป่วยเป็นโรคโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหินจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดในกรณีนี้

ส่วนกรณีมลพิษจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศโดยมิได้มีการบำบัดอากาศเสียจนทำให้มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในช่วงระหว่างเดือน พ.ย.35 จนถึงเดือน ส.ค.41 และมิใช่เหตุสุดวิสัย เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จนทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดังกล่าว ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และกำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่อยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาที่มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่าค่าที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว รายละ 246,900 บาท ส่วนรายอื่นให้ได้จำนวนเงินตามระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่จริง

สำหรับผู้ฟ้องคดีบางรายได้ไปตรวจรักษากับแพทย์ปรากฏตามใบรับรองแพทย์ระบุวันทำการตรวจวันที่ 16 ม.ค.45, วันที่ 3 เม.ย.45, วันที่ 5 เม.ย.45, วันที่ 25 เม.ย.45, วันที่ 15 พ.ค.45, วันที่ 12 มิ.ย.45, วันที่ 26 มิ.ย.45 และวันที่ 7 ส.ค.45 แต่ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 29 ส.ค.46 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี อีกทั้งข้อหาที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายนั้น มิใช่เป็นการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล และมิได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นแต่อย่างใด จึงไม่อาจรับคำฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีรายดังกล่าวได้

ต่อมาผู้ฟ้องคดีบางราย และผู้ถูกฟ้องคดี(กฟผ.) ได้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีบางรายจะได้ไปตรวจรักษากับแพทย์และได้รับใบรับรองแพทย์ในปี 45 ก็ตาม แต่โดยที่โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมีหลายประเภท บางประเภทจะต้องใช้เวลานานหลายปีในการสูดเอาฝุ่น ละออง ควัน หรือมลพิษเข้าไปสะสมในร่างกายจนถึงระดับหนึ่งจึงจะมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจหรือปอด ทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือโรคปอดซึ่งมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง การที่จะตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า เจ็บป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหินและโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือไม่ จึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังที่ปรากฏว่าหลังจากผู้ฟ้องคดีในสำนวนคดีสุดท้ายยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ส.ค.45 แล้ว มีผู้ฟ้องคดีจำนวนหลายรายที่ยังต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และแม้จะตรวจพบว่าเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าโรคดังกล่าวเป็นผลมาจากการกระทำของโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ได้ปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวนที่ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ มีลักษณะเฉพาะแห่งคดีอย่างเดียวกัน คือ เป็นประชาชนที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแม่เมาะอันเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีเจ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ก่อให้เกิดมลพิษออกสู่บรรยากาศจนทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน เจ็บป่วยได้รับอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยจากการกระทำดังกล่าวเช่นเดียวกัน จากคำฟ้องและข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีอย่างช้าที่สุดในปี พ.ศ.2546 การที่ผู้ฟ้องคดีบางรายยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองชั้นต้นเป็นคดีสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ส.ค.46 จึงเป็นการฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

กรณีการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของสิ่งแวดล้อม อันเป็นการกระทบสิทธิในการดำรงชีพอย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลที่มิได้ถูกจำกัดเฉพาะเพียงแต่การมีชีวิตอยู่เยี่ยงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เท่านั้น แต่บุคคลย่อมมีสิทธิในการดำรงชีพอย่างปกติสุขด้วย และสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองไว้ รวมถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่ต้องการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มุ่งคุ้มครองสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคุมมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิด เยียวยาทางแพ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษ และลงโทษผู้กระทำผิด เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามีการปล่อยอากาศเสียประเภทก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นละออง ซึ่งเป็นมลพิษออกสู่บรรยากาศ และมีประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้โรงไฟฟ้าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.39 ประกอบกับประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3(พ.ศ.2544) เรื่อง กำหนดให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มี.ค.44 โรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีหน้าที่ในการควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่บทบัญญัติมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2534 กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย หากว่ามีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือเสียหาย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของรัฐเสียหาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าอันตรายหรือความเสียหายดังกล่าวจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีสามารถพิจารณาได้ดังนี้

กรณีมลภาวะจากฝุ่นละออง ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีว่าได้มีการเก็บตัวอย่างและตรวจวัดค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองในพื้นที่อำเภอแม่เมาะโดยนายอาภา หวังเกียรติ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะ พบว่าจากตัวอย่างของฝุ่นละอองส่วนมากมีแหล่งที่มาจากการเผาไหม้มวลชีวภาพและรถยนต์ มิได้เกิดจากการปล่อยทิ้งอากาศเสียของผู้ถูกฟ้องคดี แม้จะมีฝุ่นละอองที่ไม่ทราบแหล่งที่มาอยู่บ้างแต่ก็มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศแล้วไม่มีความแตกต่างกัน ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีได้ติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นชนิดไฟฟ้าสถิตแรงสูงในทุกโรงไฟฟ้า มีมาตรการควบคุมฝุ่นละอองภายในบริเวณโรงไฟฟ้าด้วยการราดน้ำบนวัสดุที่มีฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่เสมอ และไม่พบว่ามีพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีเจ็บป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน จึงถือไม่ได้ว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีก่อให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละอองที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แต่อย่างใด

กรณีมลภาวะจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อพิจารณามาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในบรรยากาศโดยทั่วไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 2(พ.ศ.2524) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 10(พ.ศ.2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 12(พ.ศ.2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ชั่วโมง และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 21(พ.ศ.2544) ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ชั่วโมง แล้วเห็นว่า ค่าเฉลี่ยฯ ไม่เกิน 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นค่าเฉลี่ยฯ ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพอนามัย และเป็นค่ามาตรฐานโดยทั่วไปที่ใช้กับประชาชนทั้งประเทศ แม้จะมีการกำหนดค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กำหนดให้ค่าเฉลี่ยฯ ไม่เกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็ตาม แต่ถ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีได้มีการปล่อยทิ้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจนทำให้มีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึงจะไม่เกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี และไม่ปรากฏเหตุยกเว้นความรับผิด ผู้ถูกฟ้องคดีก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กรณีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานฉบับสมบูรณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ ในพื้นที่หมู่บ้านหัวฝาย และหมู่บ้านห้วยเป็ด ของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จัดทำเมื่อเดือน ก.พ.46 ที่ได้รวบรวมข้อมูล ผลการตรวจวัดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะระหว่างเดือน ต.ค.35 ถึงเดือน ธ.ค.45 ปรากฏว่าระหว่างเดือน พ.ย.35 ถึงเดือน ส.ค.41 รวม 70 เดือน ตรวจพบว่า มีทั้งกรณีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หลังจากนั้นเป็นต้นมาไม่มีกรณีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าจังหวัดลำปางได้มีคำสั่งจังหวัดลำปาง แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแพทย์ จากกรณีที่มีราษฎรได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในระหว่างวันที่ 17-20 ส.ค.41 และผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบรายละ 3,000 บาท สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีราษฎรฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดลำปาง ศาลจังหวัดลำปางวินิจฉัยว่ามลภาวะในพื้นที่อำเภอแม่เมาะเกิดจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในคดีดังกล่าว

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ฟังได้ว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีปล่อยทิ้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ โดยไม่ได้บำบัดหรือควบคุมทำให้มีปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชน คือ มีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ควรเป็นและเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2538) กำหนดไว้ อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการปล่อยทิ้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะในช่วงเวลาที่มีการแพร่กระจายของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีค่าเฉลี่ยฯ สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานและที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของ ผู้ถูกฟ้องคดีจนเจ็บป่วยเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคปอด หรือเกิดอาการระคายเคืองตามเยื่อบุผนังตามร่างกาย จึงเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายเสียหายจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่แพร่กระจายจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบกับการที่ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะสูงเกินกว่ามาตรฐานที่ควรเป็นและสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดติดต่อกันเป็นเวลานาน เกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีใช้วิธีการบำบัดอากาศเสียด้วยการปล่อยทิ้งทางปล่องระบายอากาศของโรงไฟฟ้าแต่ละโรงที่มีความสูง 80 เมตร และ 150 เมตร เพื่อให้เกิดการเจือจางของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศชั้นบน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทราบดีอยู่แล้วว่าสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศของอำเภอแม่เมาะเป็นที่ราบหุบเขาเสมือนแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบเกือบทุกด้าน สภาวะอากาศส่วนใหญ่เป็นภาวะลมสงบค่อนข้างนาน กระแสลมที่พัดผ่านมีความเร็วค่อนข้างต่ำ ทำให้การกระจายตัวของอากาศไม่ดีนัก อากาศจะคงตัวอยู่ในพื้นราบหุบเขาบริเวณอำเภอแม่เมาะเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีจะได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซ FGD ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีทุกโรงแล้วแต่ก็มิได้ดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ตามปกติจนทำให้เกิดเหตุการณ์เครื่องกำจัดก๊าซ FGD ใช้งานได้เพียง 2 เครื่อง จากจำนวนทั้งหมด 8 เครื่อง ในช่วงเดือน ส.ค.41 ทั้งที่สามารถคาดการณ์เรื่องดังกล่าวได้ล่วงหน้าและสามารถที่จะระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยที่จะเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดียกขึ้นเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 96 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ดังนั้นเมื่อโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จนทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวนได้รับอันตราย เสียหายจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่แพร่กระจายจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ส่วนจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพียงใดนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

1.กรณีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้องและภายหลังจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงอายุ 80 ปี ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกไปทำการตรวจรักษาราษฎรเป็นประจำทุกสัปดาห์และเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตลอดจนค่าพาหนะ ประกอบกับตามรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ปรากฏว่าตั้งแต่เดือน ก.ย.41 เป็นต้นมา พื้นที่อำเภอแม่เมาะไม่มีกรณีที่ค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเป็นค่ามาตรฐานโดยทั่วไปที่จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สุขภาพและอนามัย กับประชาชนทั้งประเทศ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องและจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาพยาบาลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าใช้จ่ายและขอให้ศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาในส่วนนี้ได้

2.กรณีค่าขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพ และค่าทดแทนความสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติสุข เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้เสนอพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโรคดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพจนทำให้ขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพอย่างไร หรือทำให้สูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติสุขอย่างไร และผู้ฟ้องคดีแต่ละรายประกอบอาชีพหรือมีรายได้เท่าใด ยังฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีต้องขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพหรือสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติสุข จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้

3.กรณีค่าทดแทนการเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพและอนามัย และความสูญเสียทางด้านจิตใจ ปรากฏตามรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ว่าในช่วงเดือน พ.ย.35 ถึงเดือน ส.ค.41 เป็นเวลา 70 เดือน มี 67 เดือน โรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย สุขภาพ และอนามัย จำนวนไม่น้อยกว่า 278 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ได้รับผลกระทบเจ็บป่วยเป็นโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก แสบคอ เยื่อบุคอแดง เยื่อบุตาแดง และเยื่อบุจมูกแดง กระทบต่อสุขภาพ อนามัย เสื่อมสมรรถภาพ และสภาพจิตใจ ดังนั้น การกำหนดค่าเสียหายจึงควรพิจารณากำหนดรวมเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามพฤติการณ์และความร้ายแรงจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีตามจำนวนครั้ง ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีได้ปล่อยทิ้งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จนทำให้มีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาตรฐานที่ควรเป็น และเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนดไว้ สำหรับจำนวนค่าเสียหายที่จะนำมาเป็นฐานเพื่อพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายนั้น ตามรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวปรากฏว่าในเดือน ส.ค.41 โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จนทำให้พื้นที่อำเภอแม่เมาะมีค่าเฉลี่ยฯ สูงเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวน 10 ครั้ง และผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบรายละ 3,000 บาท เห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนกรณีนี้อย่างน้อยรายละ 300 บาทต่อครั้ง จึงสมควรกำหนดค่าเสียหาย ดังนี้ (1) ในกรณีปล่อยอากาศเสียมีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไม่เกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีรายละ 300 บาทต่อครั้ง (2) ในกรณีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วงระหว่างเดือน พ.ย.35 ถึงเดือน มิ.ย.38 กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีรายละ 600 บาทต่อครั้ง (3) ในกรณีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วงระหว่างเดือน ก.ค.38 ถึงเดือน ส.ค.41 ซึ่งมีประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2538) กำหนดห้ามมิให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งมีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใช้บังคับแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่ได้บำบัดหรือควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่ให้มีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่าประกาศดังกล่าวกำหนด ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรงและเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 19 สำนวน ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน ประกอบกับไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้รับโทษใดๆ จากการกระทำดังกล่าว เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีระมัดระวังมิให้มีการแพร่กระจายของมลพิษจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายหรือเสียหายจากการดำเนินกิจการ และเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำผิดเช่นเดิมอีก จึงกำหนดค่าเสียหายในกรณีนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีรายละ 1,200 บาท ต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ฟ้องคดีรายใดจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากการเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพและอนามัย และความสูญเสียทางด้านจิตใจเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น ต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีรายนั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะจริงเป็นสำคัญ โดยผู้ฟ้องคดีรายที่อยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาช่วงเดือน พ.ย.35 ถึงเดือน ส.ค.41 ให้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 246,900 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีรายอื่นให้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีนี้ตามระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่จริง ทั้งนี้ต้องไม่เกินคำขอของผู้ฟ้องคดีแต่ละราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ