สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,416 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนจัดสรรน้ำฯ(แผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งฯ กำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร) สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ล่าสุด(ณ 20 ก.พ. 58) มีรายงานว่า เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 4.82 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรงดเพิ่มพื้นที่นาปรังต่อเนื่อง เพราะเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำค่อนข้างสูง และเพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้สำหรับการอุปโภค – บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำอย่างไม่ขาดแคลน จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย
ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ (3 มี.ค. 58) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 41,174 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 17,671 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(2 มี.ค. 58) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,971 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,487 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,637 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 466 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 423 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 487 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 484 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,515 ล้านลูกบาศก์เมตร